“ฝี” เชื่อว่าทุกคนรู้จัก “ฝี”
แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็น “ฝี”
ใครไม่เป็นฝี..บอกเลยว่า โชคดีมาก
ฝี…เกิดจากอะไร มาอยู่บนผิวหนังเราได้อย่างไร
“ฝี” เกิดจากแบคทีเรียที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนังอักเสบ
อธิบายตามหลักวิชาการก็คือ …เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณใดบริเวณหนึ่งติดเชื้อและเสียหาย
ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองต่อการติดเชื้อด้วยการส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวไปต่อสู้กับการติดเชื้อในบริเวณนั้น ๆ กระบวนการนี้จะก่อให้เกิด ฝี
“ฝี” ซึ่งเป็นกลุ่มหนองที่มีของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด น้ำเหลือง ผสมรวมกับเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ตายแล้วและที่ยังมีชีวิต เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ
ตามตำราหมอพื้นบ้านบอกว่า “ฝี” มีหลายชนิด และมีชื่อเรียกตามตำแหน่งที่เป็นฝี
เช่น ฝีมะม่วง เกิดที่ไข่ดัน ขาหนีบ เกิดจากเชื้อกามโรค
ฝีหัวช้าง มีหัวเดียวใหญ่ๆ
ฝีฝักบัว มีหลายหัว มีลักษณะคล้ายฝักบัว มักจะเกิดที่ก้น
ฝีประคำร้อย เป็นเม็ดๆ เกิดรอบคอตามเส้นเอ็น ห้ามทำให้แตก ไม่นานฝีจะฝ่อไปเอง
ตอนเป็นฝีใหม่ๆ ใช้ยาหม่องคลึงให้หัวฝียุบ หรือประคบฝีด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ครั้งละ 10-15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง การประคบฝีด้วยน้ำอุ่น จะทำให้เส้นเลือดบริเวณที่เกิดฝีไหลเวียนได้ดีขึ้น ฝีจะแตกเองได้ง่ายขึ้น
แอดมินเป็นคนหนึ่งที่เป็นขาประจำกับการเป็น “ฝี” และเป็นบริเวณ หลัง 3 ครั้ง
แอดมินเองก็ไม่ได้อยากเป็นฝี มารู้สึกตัวอีกที…ผิวหนังอักเสบบวมแดง เริ่มขึ้นเป็นหัวแล้ว
แอดมินอยู่ในเมืองไม่มีหมอพื้นบ้าน ก็ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล
พอเป็นฝีถึงจุดที่ขึ้นเป็นหัวแล้ว..ก็ต้องผ่าออก
ช่วงผ่าฝีที่หลัง ใช้ชีวิตค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะเวลานอน เดินตัวตรงตลอดเวลา จะเอี้ยวตัว หันตัวต้องค่อยๆ หัน
หมอบอกว่า ห้ามแผลเปียกน้ำ…แต่แผลเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อทุกวัน ไปล้างแผลที่โรงพยาบาลทุกวัน นางพยาบาลบ่นทุกวัน
ถ้าเป็นหมอพื้นบ้านจะใช้สมุนไพรพอกที่หัวฝี เช่น ใช้ใบยอแช่น้ำเกลือ 5 นาทีเอามาตำแล้วพอกที่ฝี ตอนพอกจะต้องมีคาถากำกับด้วย
หรือใช้ข้าวสุกร้อนๆ ใช้ข้าวบริเวณปากหม้อ ใบยอ ผักบุ้งแดงล้างน้ำให้สะอาดตำรวมกัน ต้องตำให้ขณะที่ข้าวสวยยังร้อนอยู่ แล้วนำไปพอกที่เป็นฝี ให้พอกจนกว่าฝีจะแตก
ในกรณีที่หัวฝีแตกแล้วใช้ใบงวงช้างหรือผักบุ้งหรือใบตำลึงอย่างใดอย่างหนึ่งโขลกกับน้ำตาลทรายขาวแล้วพอกบริเวณที่เป็น
ของต้องห้ามในช่วงรักษาฝี คือ ห้ามกินของหมักดอง ของรสเปรี้ยว เหล้า และห้ามแผลโดนน้ำ
ในช่วงที่ฝีกำลังก่อตัว เริ่มบวมแดง กำลังอักเสบ อย่าบีบ เค้น หรือเจาะฝีที่ยังไม่สุก ไม่มีหัวหนอง เพราะเชื้อโรคอาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงได้และอาจอักเสบมากกว่าเดิม บางคนฝีอักเสบมากจนไข้ขึ้น
เราเองหมั่นล้างมือของตัวเองให้สะอาด หากนำมือของตัวเองที่ไม่สะอาดไปสัมผัสกับฝี อาจทำให้ฝีติดเชื้อได้ง่ายมากกว่าเดิม และอาจยังเป็นการแพร่เชื้อแบคทีเรียไปยังผู้อื่นได้อีกด้วย
เห็นมั้ยคะว่า…เรื่องของ “ฝี” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ว่าจะรักษาด้วยสมุนไพรหรือไปหาหมอที่โรงพยาบาล เราเองก็ต้องดูแลเรื่องความสะอาด เรื่องอาหารการกิน และสังเกตร่างกายตัวเองบ่อยๆ
ถ้าพบว่า ผิวหนังเริ่มจะเป็นฝี เราใช้น้ำอุ่นประคบหรือทายาหม่อง
เราสามารถยับยั้งไม่ให้ฝีอักเสบได้…
ใครมีตำรับยารักษาโรคผิวหนัง หรือรักษาฝี…แชร์กันได้นะคะ
#มูลนิธิสุขภาพไทย #หมอพื้นบ้าน #ตำรับยาหมอพื้นบ้าน
#หมอสมุนไพร #ภูมิปัญญา