ณ ฤดูนี้เมืองไทยเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อน สะเทินหนาว สะเทินร้อน กายธาตุของร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามมา แถมยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงภูมิคุ้มกันตกอีกด้วย เมื่อเร็วๆ มีข่าวดีที่อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาประกาศเองว่า ขณะนี้มีการวิจัยในหลอดทดลองของยาแผนไทยโบราณต้านโควิด-19 ได้ผลดีถึง 2 ตำรับ คือ ยาห้ารากและยาประสะเปราะใหญ่ ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะ ยาห้ารากซึ่งสามารถเขมือบเชื้อเดลต้า ไวรัสโควิดตัวร้ายที่สุดได้เกือบเต็มร้อยคือ ได้ถึง 96.23 % แล้วอย่างนี้เชื้อกระจอกอย่างโอไมครอนจะเหลือเหรอ (ฮา)
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีเข็มมุ่งศึกษาการใช้ยาห้าราก เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันก่อนการติดเชื้อโควิด-19 นับเป็นการต่อยอดการศึกษาที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเคยรายงานไว้ว่าสารสกัดยาห้าราก ไม่ว่าจะใช้ส่วนรากหรือลำต้น-เถา ในขนาดแค่ 100-200 มิลลิกรัม/น้ำหนักหนูทดลอง 1 กิโลกรัมสามารถลดไข้ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาแอสไพรินขนาด 300 มก./กก.เลยทีเดียว โดยมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะยาห้ารากเป็นยาบรรเทาอาการไข้ ที่ประกาศอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้ทั่วไปนอกร้านขายยา ในขณะที่ยาแอสไพรินต้องให้หมอสั่งจ่ายเท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ มีการแยกศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรตัวเดี่ยวในตำรับยาห้ารากอีกด้วย พบว่าได้ผลลดไข้ใกล้เคียงกับยาทั้งตำรับ โดยเฉพาะย่านางทั้งส่วนรากและเถา สามารถต้านเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาคลอโควินได้ผลดี มีความเป็นพิษต่ำกว่าเคมีเภสัชมาก และยังพบสารออกฤทธ์สำคัญในย่านางที่มีชื่อว่า ไตเลียโครีนีน (Tiliacorinine) อันเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ของย่านางว่า Tiliacora triandra) นั่นเอง ยิ่งกว่านั้น ยังพบสารออกฤทธิ์ลดไข้ ต้านเชื้อมาลาเรียในย่านางที่ไม่พบในสมุนไพรชนิดอื่น สารตัวนี้จึงมีชื่อเรียกสากลเป็นคำไทยเท่ว่า ”ย่านางโครีนีน” (yanangcorinine)
ความโดดเด่นของย่านางที่เหนือขั้นกว่าสมุนไพรตัวอื่นในตำรับยาห้าราก คือ มีความปลอดภัยสูง เพราะย่านางเป็นผักพื้นบ้านโบราณที่ชาวไทยบริโภคเป็นอาหารมายาวนาน โดยใช้ส่วนใบอ่อน ใบแก่และเถา มาตำคั้นเอาน้ำทำเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ใส่ในแกงหน่อไม้ แกงขี้เหล็ก แกงเห็ด แกงอ่อมแซ่บ หรือซุบหน่อไม้ ทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ ทั้งยังช่วยแก้พิษเบื่อเมาของเห็ดป่า ที่เป็นจุดโดดเด่นในภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้านของเราทีเดียว และช่วยกำจัดพิษกรดยูริคในหน่อไม้ ทำให้ผู้บริโภคที่เป็นโรคไต โรคเกาท์ไม่ปวดข้อ ปวดเข่า หรือเกิดไตอักเสบจากกรดยูริคที่อยู่ในหน่อไม้ หรืออย่างง่ายสุดจะใช้ยอดและใบอ่อนย่านางเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก เรียกน้ำย่อยเจริญอาหารก็ได้
เนื่องจากย่านาง มีคลอโรฟิลล์อุดมด้วยธาตุเหล็กที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับเม็ดเลือดแดงของมนุษย์ ดังนั้นจึงทำให้ระบบการไหลเวียนมีการผลัดเม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้น ช่วยขจัดสารพิษออกจากระบบเลือด ตับ และไต ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายแข็งแรงขึ้น ปัจจุบันจึงเริ่มมีความนิยมนำใบย่านางมาทำเครื่องดื่มล้างสารพิษ เสริมวิตามินเอ ซี บี 1 บี 2 ซึ่งมีอยู่สูงมากในสมุนไพรสีเขียวมรกตรสเย็นจืดชนิดนี้ รวมทั้งยังอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการต่างๆ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าในใบย่านาง 100 กรัม ให้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ไขมันสูงถึง 95 กิโลแคลอรี่ โดยมีโปรตีนสูงถึง 15.5 % นอกจากนี้ยังมีใยอาหาร แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอะมีน ไรโบฟลาวิน และไนอะซีน ที่จำเป็นต่อร่างกาย
วิธีการทำน้ำใบย่านางสด สูตรทั่วไปไม่ต้องต้ม มีส่วนผสม ดังนี้ ใช้ใบย่านาง 30-50 ใบ น้ำสะอาด 4.5 ลิตร ใบเตยหอม 10 ใบเพื่อแก้เหม็นเขียว เพิ่มกลิ่นหอมสดชื่นชวนดื่มและเสริมสรรพคุณบำรุงหัวใจ
วิธีการทำ 1. หั่นหรือฉีกใบย่านางและใบเตยให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปตำโขลกให้ละเอียด หรือนำไปปั่นก็ได้ 2. กรองด้วยผ้าขาวบาง หรือตะแกรงตาถี่แยกกากออก เอาแต่น้ำสีเขียวเข้ม แล้วนำไปดื่มแทนน้ำได้ทั้งวัน ที่เหลือให้เก็บไว้ในตู้เย็นสำหรับดื่มได้ 4 – 5 วัน ถ้ารสเริ่มเปรี้ยวแสดงว่าเสียแล้วต้องเททิ้งทันที
ย่านางจึงเป็นทั้งยาแก้ไข้ที่ดีและเป็นอาหารพื้นบ้านอยู่ในวัฒนธรรมมาเนิ่นนาน ของดีอย่างไรก็ควรเรียนรู้การใช้ให้ปลอดภัย หากกินแก้ไข้ไป 1-2 วัน อาการไข้ไม่ลดกลับรุนแรงก็ควรไปพบแพทย์แสดงว่าไข้นี้ไม่ธรรมดา สำหรับเมนูอาหารที่ปกติกินไม่ซ้ำควรสลับหมุนเวียนให้มีความหลากหลาย ก็ไม่ได้กินย่านาง ซ้ำๆ จำเจ หากปรุงเป็นน้ำใบย่านางที่มีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ แต่มองตามสรรพคุณรสยาไทย น้ำใบย่านางรสเย็นจัดก็ไม่แนะนำให้กินจำนวนมาก ๆและต่อเนื่องนาน ๆ เช่น เช่นดื่มกันทั้งวันต่อเนื่องนาน ๆ เป็นสัปดาห์ และผู้มีปัญหาโรคไตก็ควรระวังการดื่มกินน้ำย่านางจำนวนมากๆ ต่อเนื่องด้วย ถ้าในช่วงหน้าร้อนๆ อากาศร้อน ๆ ต้มเฉพาะส่วนใบแม้เป็นยาเย็น ดื่มครั้งละแก้ว วันละ 3 เวลา กินต่อเนื่องสัก 3-4 วันก็ได้
เคล็ดลับที่ขอบอกให้รู้โดยทั่วกันว่าในภูมิปัญญาสุขภาพไทย-ลาวนั้น มีชื่อเอิ่นย่านางอีกชื่อหนึ่งว่า “หมื่นปี บ่เฒ่า” ซึ่งแฝงความหมายว่าผู้บริโภคย่านางเป็นประจำไม่ว่าในรูปอาหารหรือเครื่องดื่มจะช่วยชะลอวัย สุขภาพดี มีอายุวัฒนะ ดังนั้นในระหว่างรอฟังผลวิจัยยืนยันสรรพคุณสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ของย่านาง คนไทยเราก็ดื่มน้ำ “หมื่นปี บ่เฒ่า” ไปพลางๆ ก่อนเด้อ.