หน้าฝนอย่างสมบูรณ์แล้ว อากาศทั้งเย็นและชื้นแถมยังมีเย็นสลับร้อนด้วยตลอดวัน ทำให้เป็นไข้หวัดได้ง่าย อย่าประมาทคิดว่าเป็นหวัดธรรมดาเดี๋ยวก็หายเอง ในคัมภีร์ว่าด้วยโรคระบาดของแพทย์แผนไทยท่านกล่าวว่า “อันว่าคนไข้ทั้งหลายนั้น ไม่กินยาก็หาย…ใน 3 วัน 5 วัน” ก็จริงอยู่ แต่ท่านก็เตือนแพทย์มิให้ประมาทไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่โดยเด็ดขาด เพราะไข้ธรรมดาที่เกิดจากฤดูกาลทั้งสาม อาจแปรไข้กลายเป็นโรคห่าหรือโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายมาแล้วเมื่อครั้งโบราณกาล และในยุคปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากแล้วก็ตาม ขอโค้ดวรรคสำคัญของพระคัมภีร์ตักศิลามาไว้ดังนี้
“แท้จริงอันว่าพระอาจารย์จะแสดงไข้หวัดสองประการ (ไข้หวัดน้อยและไข้หวัดใหญ่)ให้แก่แพทย์ทั้งหลายพึงรู้หวัดสองประการเป็นเหตุอย่างไร จึงวิสัชนาว่า เกิดเพราะเหตุฤดูสามประการ คือ คิมหันต์ฤดูหนึ่ง วัสสานะฤดูหนึ่ง เหมันตฤดูหนึ่ง เป็นสามฤดูด้วยกัน โรคเกิดแต่คนทั้งหลายต้องร้อนอย่างหนึ่ง ต้องน้ำค้างอย่างหนึ่ง ต้องละอองฝนอย่างหนึ่ง จึ่งว่าเป็นไข้หวัด แลผู้เป็นแพทย์ไปข้างหน้า อย่าพึงประมาทว่าเป็นไข้หวัดดอก ถ้าแก้ไม่ฟังแปรไข้ถึงมรณะ”
อากาศแปรปรวนในฤดูฝนนี้ “ขิง” จึงเป็นสมุนไพรเครื่องเทศที่เหมาะที่สุดที่ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัสหวัดรวมทั้งไวรัสหวัดโควิดด้วย มีข้อมูลยืนยันจากการศึกษาจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่าน้ำมันหอมระเหยทั้ง Zingerol และ Gingerol ในขิงสามารถชิงเก้าอี้ดนตรีแย่งจับกับตำแหน่งเอนไซม์ย่อยโปรตีนหลักที่ยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้ (SARS-CoV-2 main protease )
ขิง มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Zingiber officinale Roscoe โดยชื่อสกุลในภาษาละติน “Zingiber” หรือ “ซิงจิเบอร์”นั้น มาจากคำภาษาสันสกฤต “Sringavere” ออกเสียงว่า “ซิงจาเวียร์” เนื่องจากพ่อค้าอินเดียโบราณได้นำขิงเข้าไปเผยแพร่ในดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียน ชนชาติที่ใช้ภาษากรีก-ละตินในย่านนั้นจึงเรียกชื่อเครื่องเทศชนิดนี้เลียนเสียงตามภาษาฮินดีดังกล่าว แล้วในทางอายุรเวทของอินเดียถือว่า ขิงเป็นมหาโอสถที่มีสรรพคุณอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นโอสถของพระฤาษีนามว่า “มหิทธิกรรม”ใช้บริโภคเพื่อ “ระงับตรีโทษ”กล่าวคือ ระงับโทษหรือโรคอันเกิดจากเสมหะ ปิตตะ วาตะ ผิดปกติ สรรพคุณของขิงได้ถ่ายทอดสู่ “พระคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัด”ของแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะ “ขิงสด”
ในพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า “ขิงสดนั้น มีรสอันหวาน ร้อน เผ็ด, เหง้า เจริญอากาศธาตุ” อากาศธาตุในที่นี้ หมายถึง ธาตุหนึ่งในปัญจมหาภูตรูป (ธาตุ 5) โดยทั่วไปหมายถึง ช่องว่างซึ่งเป็นช่องทางเดินของดิน น้ำ ลม และความร้อน ผ่านทวารทั้ง 9 ของร่างกาย ได้แก่ ตา 2 จมูก 2 หู 2 ปาก 1 ทวารเบา 1 ทวารหนัก 1 แต่ในความหมายที่มากกว่านั้น อากาศธาตุ หมายถึง ช่องทางเดินอันละเอียดของเลือด ลม แร่ธาตุอาหารและกระแสประสาท ฯลฯ ซึ่งจะสามารถไหลเวียนเป็นปกติไม่ติดขัด หากได้รับการบำรุงหล่อเลี้ยงให้จำเริญขึ้นโดยเภสัชวัตถุที่ช่วย “จำเริญอากาศธาตุ” อันได้แก่ “ขิงสด”เป็นอาทิ
เมื่อการไหลเวียนในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทและระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น ทำงานได้เป็นปกติ ตรีโทษหรืออาการผิดปกติทั้งปวงของร่างกายก็จะไม่บังเกิดขึ้นได้โดยง่าย ช่วยให้บุคคลมีสุขภาพแข็งแรง อายุยืน ชาวจีนเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่รู้จักสรรพคุณอายุวัฒนะของ “เจียง” หรือ “ขิง” เป็นอย่างดีนับแต่โบราณกาล ขงจื๊อมหาปราชญ์จีนถึงกับกล่าวว่า “ควรรับประทานขิงเป็นอาหารทุกมื้อ”
สำหรับเมืองร้อนอย่างไทย แม้ไม่เหมาะที่จะรับประทานเครื่องเทศรสร้อนเช่นขิงในช่วงที่อากาศร้อนมาก แต่ถ้าหากรู้จักใช้ขิงสด (ซึ่งมีรสหวานแทรก) เพื่อปรุงเป็นอาหาร เครื่องดื่ม และยาอย่างเหมาะสม ขิงย่อมช่วยรักษาสุขภาพของร่างกายได้ในทุกฤดูกาล โดยเฉพาะสามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างดีในช่วงที่สภาพอากาศเย็นชื้นหรือเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นไม่แน่นอน ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ เช่นไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ไอ มีเสมหะ เฟ้อ เจ็บคอ รวมทั้งไข้หวัดโควิดที่กำลังระบาดอยู่ในเวลานี้
ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนจีนในการใช้ “ขิง” รักษาสุขภาพจะเหมือนกันตรงที่ หมอจีนจะใช้ขิงปรับสมดุลร่างกายที่ขาดหยาง เช่นกันกับหมอไทยจะใช้ขิงเพื่อแก้หวัดมองคร่อหรือหวัดเย็น มีเสมหะแห้งอยู่ในหลอดลมที่ทำให้ไอเรื้อรัง มือเย็น เท้าเย็น สะท้านหนาว หากผู้ป่วยมีอาการเช่นนี้ “ท่านให้วางยาอันร้อนจึงชอบโรคนั้นแล” น้ำขิงสดจึงเป็นเครื่องดื่มที่มีรสอันหวานร้อนเหมาะกับการรักษาสุขภาพร่างกายในช่วงฤดูฝนที่มีสภาพอากาศเย็นชื้นและในสถานการณ์โรคหวัดโควิดที่เป็นอยู่ในเวลานี้ โดยทั่วไปน้ำขิงเป็นเครื่องดื่มเครื่องเทศที่ปลอดภัยให้ประโยชน์สูง หากรู้จักวิธีต้มที่ไม่ทำให้น้ำมันหอมระเหยที่เป็นเอกลักษณ์ของขิงเหือดหาย จึงไม่ควรใช้ความร้อนต้มนานเกินไป แม้ว่าขิงเป็นเครื่องเทศที่ผู้คนใช้ปรุงอาหาร เครื่องดื่มบำรุงเลือดลม และเป็นยามานับพันปี จะมีข้อควรระวังบ้างสำหรับหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดี โรคหัวใจเต้นผิดปกติ โรคกระเพาะอาหาร และเสริมฤทธิ์ยาละลายลิ่มเลือด ที่สำคัญไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่มีไข้สูง
วิธีชงน้ำขิง ให้ได้ประโยชน์ทางยาสูงปลอดภัยที่สุดคือ ใช้ขิงสด ยิ่งแก่ยิ่งดี (แก่ก็มีดี) ครั้งละ 100 กรัม ปอกเปลือก ซอยเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปชงในน้ำอุ่น(ราว 60-70 องศาเซลเซียส) 200 ซีซี ปิดปากถ้วย ตั้งไว้ราว 10-15 นาที กรองขิงออก ดื่มได้เลย จะได้กลิ่นน้ำมันขิงหอมกรุ่น จะแต่งน้ำผึ้งเล็กน้อยก็ได้ นี่แหละคือ ตัวยาที่ช่วยย่อย ขับลม อุ่นร่างกาย ถ้าต้มหรือใช้น้ำเดือดน้ำมันสำคัญจะระเหยไป สูญเสียคุณค่าทางยา
ดังนั้นมาร่วมกันสร้างเสริมภูมิคุ้มกันหมู่แล้วหันมาดื่มน้ำขิงร้อนๆ ก่อนไข้ ห่างไกลหวัดน้อยหวัดใหญ่หวัดโควิดกันเถอะ.