แฉไทยถูกญี่ปุ่นตีกลับ‘มะละกออบแห้ง’เปื้อนจีเอ็มโอ หลัง ม.นเรศวรจับมือมอนซานโต้ทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอในแปลงเปิด นักวิชาการระบุสุ่มตรวจพบสารปนเปื้อนอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะมะละกอที่เมืองกาญจน์ เหมือนมะละกอฮาวาย และยังมีพืชอีกหลายชนิดที่เข้าข่ายเช่น ฝ้าย ข้าวโพด พริก มะเขือ และข้าว จวกรัฐบาลไม่ควรเห็นแก่ประโยชน์ด้านการลงทุนและธุรกิจ เพราะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์พืช และใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณมากเหมือนในสหรัฐฯ
เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อจัดทำความตกลงเปิดเสรีการค้ากับสหภาพยุโรป โดยความตกลงในครั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปจะผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอพ 1991 (UPOV 199) ซึ่งสอดคล้องกับแรงกดดันของบรรษัทค้าเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ ที่พยายามผลักดันให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย แก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นต้นแบบของกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ที่หลายประเทศนำไปปรับใช้ ในการคุ้มครองสิทธิเกษตรกร และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเพิ่มอำนาจการผูกขาดของบริษัทเมล็ดพันธุ์แทน โดยอ้างว่าเป็นการดึงดูดนักลงทุนข้ามชาติ ให้เข้ามาลงทุนด้านเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
โดยบริษัทมอนซานโต้ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ผูกขาดเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอของโลก กำลังผลักดันให้คณะรัฐมนตรีและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อนุญาตให้มีการปลูกทดลองข้าวโพดจีเอ็มโอ NK 603 ที่อ้างว่าสามารถต้านทานสารเคมีปราบวัชพืช ยี่ห้อราวด์อั๊พ โดยการทดลองปลูกในครั้งนี้บริษัท มอนซานโต้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนเรศวร
ซึ่งการเข้าเป็น ภาคีในอนุสัญญายูปอพ 1991 และการอนุญาตให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด และการปลูกพืชในเชิงพาณิชย์ จะมีผลกระทบต่อเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น ประชาชนส่วนใหญ่และต่อผลประโยชน์ของประเทศในภาพรวม ทางมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) จึงร่วมกับสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมและมหาวิทยาลัยหอ การค้าไทย จัดการประชุมวิชาการสาธารณะ “นโยบายจีเอ็มโอและการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPO 1991 กับผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร” โดยมี ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี นายบุญส่ง มาตรขาว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดยโสธร
ตรวจพบข้าวโพดและมะละกอปนเปื้อนสูงมาก
ดร.ปิยะ ศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มีการสุ่มตรวจพืชหลายชนิดทั้ง ฝ้าย ข้าวโพด มะละกอ พริก มะเขือ ข้าว พบว่าการปนเปื้อนที่น่าวิตกที่สุดคือ มะละกอ โดยเฉพาะในพื้นที่จ.กาญจนบุรี โดยพบว่า มะละกอมีลักษณะคล้ายพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอจากฮาวาย
มะละกอนอกจากจะสามารถรับประทานผลสุก ผลดิบสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้แล้ว มะละกอยังเป็นส่วนผสมในอาหารหลายชนิด และยังสามารถนำไปแปรรูปได้หลายอย่างแล้ว การแพร่กระจายของมะละกอยังเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะมะละกอมีเมล็ดมาก ชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจในการกำจัดอย่างถูกวิธีทำให้โอกาสที่มะละกอจะเจริญเติบ โตมีสูง อีกทั้งการปลิวของละอองเรณู ยังทำให้โอกาสในการแพร่กระจายสูงขึ้นอีกด้วย ทำให้มีผลต่อการผสมข้ามสายพันธุ์และทำให้พันธุ์ปกติเปลี่ยนไป กลายเป็นพันธุ์ผสม ซึ่งขณะนี้ภาพลักษณ์มะละกอของประเทศไทยไม่ดีแล้ว
ญี่ปุ่นตีกลับมะละกอไทยหลังพบจีเอ็มโอในผลิตภัณฑ์
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้สั่งให้ตรวจเข้มผลิตภัณพ์มะละกอจากไทยมากยิ่งขึ้น โดยสุ่มตรวจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของการนำเข้าทั้งหมด พร้อมทั้งขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ตรวจหาสาเหตุการปนเปื้อนจีเอ็มโอในผลิตภัณฑ์มะละกอของไทย หลังจากพบว่า ผลิตภัณฑ์มะละกออบแห้งมีการเคลื่อนย้ายยีนส์ เพื่อป้องกันไวรัสจุดวงแหวน โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย ซึ่งขัดต่อกฎหมายสุขอนามัยอาหารของญี่ปุ่น และสินค้าดังกล่าวถูกตีกลับทั้งหมด
“กฎหมายญี่ปุ่นบังคับไว้ว่า ตามประกาศกระทรวงของญี่ปุ่น ให้มีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์มะละกอจากประเทศไทย ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งค่าตรวจที่ญี่ปุ่นราว 14,500 บาท และการตรวจในแต่ละครั้งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการที่ใช้เวลา มีความซับซ้อน และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ” ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าว
50 เปอร์เซ็นต์ของพืชจีเอ็มโอถูกปลูกในสหรัฐฯ
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ปลูกพืชจีเอ็มมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของโลก รองลงมาคือ อาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา อินเดีย จีน โดยพืชจีเอ็มโอในสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝ้าย ถั่วเหลืองและข้าวโพด มีการปลูกในเชิงพาณิยช์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจ คือ ได้ผลผลิตสูง ใช้สารเคมีน้อยและสามารเพิ่มธาตุอาหารได้ แต่มีรายงานจาก Food & Water ระบุว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอในสหรัฐฯ ทำให้มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชเพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่า และมีการใช้สารฆ่าแมลงเพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์
“การนำพืชจีเอ็ม โอซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชที่ต้านทานสารเคมีปราบวัชพืช เข้ามาปลูกในสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางทศวรรษ 1990 ทำให้เกิด ‘ซุปเปอร์วัชพืช’ หรือวัชพืชที่ฆ่าไม่ตาย มีความต้านทานสารเคมีเพิ่มขึ้นหลายชนิด เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการใช้สารเคมีปราบวัชพืชในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ถึง 10 เท่า” นายวิฑูรย์กล่าว
นอกจากนี้นายวิฑูรย์ยังได้กล่าวถึงผล กระทบจากการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมว่า ทุกๆเกสรของข้าวโพด NK 603 มียีนที่บริษัท มอนซานโต้ จดสิทธิบัตรข้าวโพดหนึ่งต้น มีละอองเกสรตั้งแต่ 2-25 ล้านเกสร ถ้าปลูกข้าวโพดเพียงต้นเดียวที่ระยะครึ่งกิโลเมตร มีโอกาสพบเกสรข้าวโพดได้มากถึง 10,000-20,000 เกสร หากรัฐบาลอนุมัติให้บริษัท มอนซานโต้และมหาวิทยาลัยนเรศวร ทดลองข้าวโพดจีเอ็มโอ NK 6003 มีโอกาสสูงมากที่เกสรข้าวโพด จะปลิวไปผสมข้ามกับข้าวโพดของเกษตรกร ในรัศมีหลายสิบหรือหลายร้อยกิโลเมตรได้ จากกระแสลมหรือแมลง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรถูกฟ้องร้องละเมิดสิทธิบัตร ผลผลิตข้าวโพดส่งออกถูกตีกลับเช่นเดียวกับมะละกอ พันธุกรรมข้าวโพดพื้นเมืองถูกปนเปื้อนโดยยีนส์ที่ไม่พึงปรารถนา เกษตรอินทรีย์ได้รับผลกระทบและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวด้วย
ที่มา : พรรษา กาเหว่า TCIJ 27พ.ย.56