เชื่อว่าหลายคนไม่รู้จักต้นไม้ชื่อ ซ้อ แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนรู้จักอีกจำนวนไม่น้อย เนื่องจากเติบโตมาจากวิถีชุมชนซึ่งมีความผูกพันกับการดำรงชีวิตแบบบ้านๆ ตามท้องสวนไร่นาใกล้ชิดธรรมชาติ อาจเรียกว่าเด็กบ้านนอกโตมาตามวิถีดั้งเดิมก็จะพอรู้ว่า ซ้อมีการนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น นำดอกมาหุงกับข้าวแล้วทำเป็นขนมคล้ายๆ ขนมเค็กเลยทีเดียว และมักทำกินกันในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ชาวไทยใหญ่รู้จักนำดอกซ้อมาผสมกับข้าวแป้งเพื่อทำขนมกินเช่นกัน ผลซ้อเมื่อสุกจัดมีกลิ่นหอม รสหวานแต่ก็ปนขมบ้าง ใครเคยกินจะรู้ดีว่าเป็นผลไม้แบบฉ่ำน้ำกินเล่นเป็นผลไม้ทั่วไปได้ หรือบางคนเอาผลมาบีบน้ำผสมกับข้าวเหนียวนึ่งแล้วนำไปหมกไฟกิน หรือบีบน้ำใส่ข้าวจี่ ก็เพิ่มรสชาติให้ทั้งข้าวเหนียวนึ่งหรือข้าวจี่มีรสหวานกินอร่อยไปอีกแบบด้วย
รู้จักต้นซ้อ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 5-10 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gmelina arborea Roxb. และมีชื่อท้องถิ่นแปลกๆ และหลากหลาย เช่น ซ้อ เฝิง Foeng (ภาคเหนือ) กำม่าทุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี กำแพงเพชร); แก้มอ้น (นครราชสีมา) ช้องแมว (ชุมพร) เซาะแมว (มาเลย์-นราธิวาส); แต้งขาว (เชียงใหม่); ท้องแมว (ชลบุรี สุพรรณบุรี) เป้านก (อุตรดิตถ์) ม้าเหล็ก (ละว้า-กาญจนบุรี) เมา (สุราษฎร์ธานี); แม่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ร่มม้า รำม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); สันปลาช่อน (สุโขทัย) เป็นต้น ลักษณะใบเดี่ยว ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปปากเปิด เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดกับหลอดกลีบดอก รังไข่เกลี้ยง ผลกลมหรือรูปไข่กลับ สีเขียวอมเหลือง ผิวเกลี้ยง เป็นมันเล็กน้อย
ซ้อ เป็นไม้ท้องถิ่นจึงมีการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรแบบยาพื้นบ้านหรือยาที่หมอพื้นบ้านนำมาใช้ เช่น รากและลำต้น นำมาตำเอาน้ำยาทาแก้คัน เปลือกต้นด้านในเอามาขูดเป็นผงใช้แก้น้ำกัดเท้า ความรู้จากต่างประเทศเท่าที่รู้ก็มักใช้เป็นยาพื้นบ้านเช่นกัน เช่น ใช้รากเป็นยาเกี่ยวกับการฟอกเลือด ยาระบาย ยาแก้ปวดท้อง ยาบำรุงและใช้เป็นยาแก้พิษต่าง ๆ สำหรับน้ำคั้นจากใบ นำมาใช้แก้อาการไอ และแก้อาการหนองในด้วย ส่วนดอกรักษาโรคเรื้อนและโรคที่เกี่ยวข้องกับเลือด และมีการกล่าวถึงนำมาแก้แผลในกระเพาะอาหารและใช้เป็นยาภายนอก ซึ่งน่าจะใช้เกี่ยวกับโรคผิวหนังเช่นเดียวกับความรู้พื้นบ้านในไทย
ในประเทศอินเดียมีรายงานว่าหมอพื้นบ้านใช้รากต้มน้ำดื่มเพื่อรักษาอาการเนื้องอกในช่องท้อง และใช้แก้อาการปวดต่างๆ ลดอาการเจ็บกระเพาะ ช่วยขับน้ำนม ลดความกระหาย ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย และบรรเทาอาการระคายเคืองซึ่งหมายรวมเกี่ยวกับอาการทางผิวหนังต่าง ๆ แพทย์ทางอายุรเวทของอินเดียมีการสั่งจ่ายยา โดยให้ใช้ผลซ้อเพื่อรักษาอาการหัวล้าน โลหิตจาง วัณโรค ตกขาว ส่วนดอกซ้อใช้เป็นยาบำรุงเลือดหรืออาอากรผิดปกติของเลือด และรักษาโรคเรื้อน ส่วนรากใช้เป็นยาขับพยาธิ ยาระบาย กรดไหลย้อน ปวดท้อง ประสาทหลอน ริดสีดวงทวาร เป็นต้น
การใช้ประโยชน์ของซ้อตามวีถีพื้นบ้าน ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ซึ่งเป็นเสี้ยนตรง เนื้อละเอียด มีสีขาวแกมสีเหลือง หากทิ้งไว้นานสีจะเข้มขึ้นจึงเหมาะกับใช้ในงานก่อสร้าง ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น เสาบ้าน ไม้กระดาน หน้าต่าง วงกบประตู ไม้บุผนังให้ความสวยงาม และนิยมนำไม้ซ้อมาทำเป็นหวดนึ่งข้าว เขียงและโบม (ภาชนะที่ใช้รองข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว และนำข้าวเหนียวมากลับไปมาเพื่อลดความร้อนและไอน้ำ ก่อนนำไปใส่ในกระติบ) พบเห็นหลายพื้นที่ในประเทศไทยและลาว และชาวบ้านยังนำเนื้อไม้หรือผลใช้เป็นสีย้อมสีเหลืองที่ติดทนดีมาก
ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่น่าสนใจและควรนำมาใช้ประโยชน์ในกระแส New normal ที่สังคมไทยควรปรับวิถีคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นก็คือ ซ้อ เป็นต้นไม้เบิกนำได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะบริเวณที่ต้องการฟื้นฟูให้เป็นป่าหรือบริเวณที่เป็นป่าเสื่อมโทรม เช่น ทางภาคเหนือก็เคยมีการโครงการฟื้นฟูป่าด้วยการใช้ต้นซ้อเบิกนำ และนำไปปลูกร่วมกับไม้ท้องถิ่นชนิดอื่น ๆ ซ้อเป็นไม้โตเร็วให้ร่มเงามาก จึงสามารถช่วยทำให้พืชชั้นล่างลงมาไม่สามารถเจริญเติบโตแข่งได้ ไม้ต้นก็ขึ้นได้ง่ายไม่เช่นนั้นไม้เล็กๆ และวัชพืชจะแย่งพื้นที่ไปหมด ต้นซ้อยังเป็นไม้ที่เรียก “แขก” หมายถึงนกและค้างคาวชอบมากินผล ซึงดีต่อระบบนิเวศด้วย
ปัจจุบันมีตัวอย่างในหลายพื้นที่ที่ปลูกต้นซ้อร่วมกับข้าวโพด มันและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวิธีส่งเสริมแบบทูอินวัน ได้ทั้งไม้ใช้สอยและอาหาร (wood and food) และเมื่อมีระบบการจัดการที่ดีก็ยิ่งเพิ่มพูนผลลัพธ์ที่ได้ เช่นควรปลูกต้นซ้อหลังจากปลูกข้าวโพด มันหรือมันสำปะหลังประมาณ 3 เดือน จะช่วยให้ผลดีต่อพืชทั้ง 2 กลุ่มและความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูก สวนป่าแบบชาวไร่ในรูปหมู่บ้านป่าไม้ หรือที่เรียกว่า taungya system ก็สามารถปลูกต้นซ้อร่วมกับการปลูกถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ ยาสูบ ข้าวโพดและถั่วก็ได้ ซึ่งจะได้ประโยชน์ส่งเสริมซึ่งกันและกันแล้ว ยังใช้เป็นแนวกันลมด้วย ในประเทศบราซิลปลูกซ้อเพื่อนำไปใช้เป็นเยื่อกระดาหรือทำไม้อัดประเภทต่าง ๆ และน่าสนใจที่คนไทยน่าจะเรียนรู้ข้ามทวีปเพราะชาวบ้านบราซิลนอกจากใช้เป็นไม้ฟืนหรือทำถ่าน แล้ว ต้นซ้อใช้เลี้ยงผึ้ง ใบใช้เลี้ยงสัตว์และหนอนไหม ส่วนผลก็กินเป็นผลไม้เช่นคนไทย
ไม้ซ้อเป็นไม้ที่เติบโตได้ดีในหลายพื้นที่ ประโยชน์ใช้เป็นอาหาร ยา ใช้สอย และฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อปลูกป่าหรือฟื้นฟูป่า โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจกับวิกฤติโควิด-19 สนับสนุนชุมชนจ้างงานปลูกซ้อให้เป็น New normal เพื่อสุขภาวะคนไทยกันดีไหม ใช้งบประมาณไม่มากประโยชน์ยืนยาว.