ปัญหาผู้บริโภคอาหารยังไม่ได้รับการคุ้มครองจริงจัง โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.เวลา 13.30 น. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนด้านอาหาร กล่าวว่าจากที่มีการร้องเรียนปัญหาด้านอาหารมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ระหว่างเดือน ก.ย.2555-ธ.ค.2556 รวมกันทั้งสิ้น 152 กรณี แบ่งปัญหาเป็น 10 ประเด็น คือ 1.ปัญหาอาหารปนเปื้อน 31 กรณี ถือว่ามากที่สุด 2.บรรจุภัณฑ์ชำรุดบกพร่อง/คุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 29 กรณี 3.แสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง 28 กรณี 4.โฆษณาอาหาร/ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 22 กรณี 5.จำหน่ายสินค้าหมดอายุ 14 กรณี 6.อาหารเป็นพิษ/ได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร 13 กรณี 7.ราคาแพงเกินจริง/ไม่ติดป้ายราคา/ราคาไม่ตรงกับป้าย 8 กรณี 8.อาหารเสียก่อนวันหมดอายุ 3 กรณี 9.การผลิต/แหล่งผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ 2 กรณี และ 10.น้ำมันทอดซ้ำ 2 กรณี
นายพชรกล่าวอีกว่า ปัญหาอาหารปนเปื้อนมีการพบสิ่งแปลกปลอม/สิ่งปนเปื้อนทางอาหารเช่น เส้นผม ขน เล็บและแมลงสาบ หรือความผิดปกติของอาหารเช่น มีตะกอน ขึ้นรา และเน่าเสีย รวมถึงการใช้สารเคมีที่ไม่ควรใช้ในอาหาร เช่น ฟอร์มาลีน บอแรกซ์ โดยมีตัวอย่างปัญหาที่พบบ่อยและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เชื้อราในขนมปัง ก้อนขาวในนมกล่องและสิ่งแปลกปลอมในนมผงสำหรับเด็ก สำหรับกรณีบรรจุภัณฑ์ชำรุดบกพร่องและคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ได้แก่ บรรจุภัณฑ์บุบ ยุบ มีสนิมหรือฉีกขาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของขายลดราคาในห้าง ส่วนกรณีสินค้าไม่ได้มาตรฐานไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในกลุ่มนมโรงเรียนที่มีปัญหาเรื่องตกมาตรฐานโปรตีน ส่วนการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น รายละเอียดต่างๆบนฉลากไม่เป็นภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหารไม่แสดงผู้ผลิตผู้จัดจำหน่าย เป็นต้น
“การแก้ปัญหาด้านอาหาร มูลนิธิฯและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั้ง 10 จังหวัด จะเข้าพบเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ในวันที่ 20 ธ.ค.เพื่อหารือ 1.การพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารที่เป็นรูปธรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม 2.ปรับปรุงนโยบายฉลากโภชนาการให้เป็นแบบสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง แทนที่การใช้ฉลากโภชนาการแบบสีเดียว(GDP) 3.ให้บังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.25522 อย่างเคร่ดครัด และ 4.ในการแก้ไข พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่ ให้เพิ่มบทลงโทษให้มีความรุนแรงเทียบเท่ากันกับบทลงโทษตามพ.ร.บ.คุ้ครองผู้บริโภคของสคบ.” นายพชรกล่าว
ด้านนายประวิทย์ หันวิสัย เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ที่เป็นปัญหาคือโฆษณาหลายตัวที่ถูกขึ้นบัญชีดำจาก อย.และ กสทช.เช่น น้ำหนัก น้ำดื่มเพื่อสุขภาพ มีการเปลี่ยนชื่อการค้า นอกจากนี้ยังมีผู้มีชื่อเสียงอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ประกอบวิชาชีพมาอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์และการจูงใจให้บอกผลิตภัณฑ์แบบปากต่อปาก กรณีที่รุนแรงคือ พบการเสียชีวิตจากการใช้ยาแผนโบราณ 1 ราย และเสียชีวิตจากน้ำหมัก 2 ราย
ที่มา : ไทยรัฐ 20 ธ.ค.2556