เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) มูลนิธิชีววิถี องค์กรภาคีจังหวัดยโสธร และโครงการขับเคลื่อนจังหวัดยโสธรสู่จังหวัดน่าอยู่ที่สุด จัดงาน ‘มหกรรมข้าวพื้นบ้าน : ความหลากหลายทางชีวภาพกับความมั่นคงทางอาหาร’ ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2557 ณ โรงแรมเจ.พี. เอ็มเมอรัลด์ จ.ยโสธร และวันที่สอง ณ ศูนย์ประสานงานโครงการนิคมการเกษตร เกษตรอินทรีย์ บ้านโนนยาง ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร
รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย หัวหน้าทีมวิจัยการตรวจโภชนาการข้าว สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเหตุที่ต้องชูประเด็นเรื่องข้าวปลอดภัย สาเหตุเพราะประชากรชาวโลกกินข้าวเป็นอาหารหลักมากกว่า 50% สิ่งที่ผู้บริโภคข้าวต้องการก็คือ การได้กินข้าวที่ปลอดภัย แต่ในปัจจุบันนั้น ข้าวที่เรากินค่อนข้างมีคุณค่าทางโภชนาการน้อย ผู้บริโภคส่วนมากเป็นโรคภัยไข้เจ็บอันเกิดจากการบริโภคที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นความท้าทายของผู้ผลิตข้าวก็คือ ทำอย่างไรให้การกินข้าวคือการกินยาป้องกันโรค ประเด็นก็คือ เราจะพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพได้อย่างไรเพื่อให้ตอบสนองต่อผู้บริโภคได้มากที่สุด
ด้านดาวเรือง พืชผล เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นบ้าน จังหวัดยโสธรให้ความเห็นว่า เหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านก็คือ เนื่องจากข้าวพื้นบ้านมีลักษณะเด่นในหลานด้านอาทิ
ประการแรกข้าวพื้นบ้านมีความหลากหลายในเรื่องช่วงอายุ คือ มีระยะเวลาเจริญเติบโตที่ต่างกัน เจริญเติบโตได้ในลักษณะหรือนิเวศน์ที่หลากหลาย เช่น พื้นที่ลุ่ม พื้นที่โคก พื้นที่ทามน้ำท่วม ก็จะเหมาะกับการปลูกข้าวในสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไป
ประการที่สองข้าวพื้นบ้านมีคุณสมบัติด้านคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคตามความชอบของตนเองได้ตามแต่ความชอบ ส่วนผู้ผลิต(ผู้ปลูกหรือเกษตรกร)ก็สามารถเลือกปลูกเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคที่หลากหลายได้
ประการที่สามในปัจจุบันความแปรปรวนของสภาวะอากาศที่เกิดขึ้นจริง และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรที่ปลูกข้าวพื้นบ้านหลากหลายสายพันธุ์ จะทำให้เกษตรกรลดความเสี่ยงต่อผลิตได้เป็นอย่างดี
ประการสุดท้ายเกี่ยวเนื่องกับการรักษาฐานทางพันธุกรรม เพื่อคัดเลือก ปรับปรุงและผสมพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อที่จะรับมือกับสภาวะอากาศที่อาจเปลี่ยนแปลงซึ่งเกษตรกรไม่สามารถคาดเดาได้ เช่น ในอนาคตข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่เหมาะกับสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น การรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านจะทำให้ลดความเสี่ยงต่อความไม่ยั่งยืนทางอาหาร
ที่มา : ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง