กว่า 10 ปีมาแล้วที่คอลัมน์นี้เคยเขียนแนะนำ บรรเทาเบาหวาน ด้วยสุขภาพแบบองค์รวม มีหลักการหรือวิธีปฏิบัติ 5 ข้อ นำมาเล่าอีกครั้งเพราะมูลนิธิสุขภาพไทยทำงานกับชุมชนที่ตำบลป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ มีโปรแกรมสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นลดเบาหวานสอดคล้องกับหลัก 5 ข้อ จึงนำของจริงมาเชียร์ให้ได้ทำกัน ทบทวนหลัก 5 ข้อว่า
1.ใส่ใจการกินอาหาร กินผักให้มากเพิ่มกากใย ยิ่งกินอาหารสมุนไพรที่ปัจจุบันพบว่ามีส่วนช่วยลดน้ำตาลในเลือด เช่น มะระขี้นก ผักเชียงดา ขมิ้นชัน มะขามป้อม ฯลฯ ก็เหมือนกินอาหารเป็นยานั่นเอง
2.ขยับกาย ไม่นั่งๆ นอนๆ การออกกำลังกายให้เหมาะสมกับธรรมชาติของแต่ละคน ให้เหมาะสมกับอายุ จะเป็นสิ่งวิเศษ ขอให้ได้ทำสม่ำเสมอยิ่งกว่ายาดีใด ๆ
3. การฝึกลมหายใจ จังหวะถี่ช้า หายใจเข้าออกตื้นหรือลึกที่เราหายใจนั้นมีผลต่อสุขภาพและอารมณ์จิตใจเราด้วย ปัจจุบันมีการวิจัยมากมายพบว่า การฝึกหายใจช้า ลึก ต่อเนื่อง ช่วยลดทั้งความดันและเบาหวาน และมีผลดีต่อสุขภาพด้านอื่นๆ ด้วย
4.การพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับให้สนิทและเพียงพอสำคัญต่อสุขภาพมาก ภูมิปัญญาดั้งเดิมช่วยการนอนหลับเช่น การกินแกงขี้เหล็ก การกินชาเกสรดอกไม้ ยาหอมตำรับต่างๆ รวมถึงการอบสมุนไพร และนวดตัวคลายเส้น หายเครียด ช่วยให้เบาหวาน ความดันลดลงได้เช่นกัน
5. ข้อนี้จะไม่ต้องมีก็ได้ หากทำ 4 ข้อข้างต้นไว้อย่างดี แต่บางคนอยู่ในภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและยังแกว่ง การมีตัวช่วยด้วยยาสมุนไพรใกล้ตัวที่ปลอดภัยหาง่าย ๆ ก็คล้ายเป็นกองหนุน เช่นการกินวุ้นว่านหางจระเข้ กินเฉพาะเนื้อวุ้น โดยล้างน้ำส่วนของยางสีเหลืองๆ ออกให้หมด กินครั้งละประมาณ 2 ช้อนแกง กิน เช้าเย็น ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้
หลักการนี้ไปตรงกับประสบการณ์ในพื้นที่ได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่อทางมูลนิธิสุขภาพไทยทำงานร่วมกับทีมงานตำบลป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ คณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพที่นั่นร่วมกันคิดร่วมทำโปรแกรมลดเบาหวาน ความดัน ด้วยการนำเอาความรู้พื้นบ้านมาใช้ แกนนำหลักคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตพยาบาลวิชาชีพที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เล่าว่า “เคยทำงานอยู่มีคลินิกเบาหวาน มีกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน ความดันมาอบรม ให้ความรู้ มีทั้งนักโภชนาการ เภสัชกร แพทย์ หรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ความรู้คงเอาไปใช้ได้ 3 อ. 2 ส. เขารู้หมด แต่พอกลับไปที่บ้านก็เป็นเหมือนเดิม ทำกับข้าวแบบเดิม มันเหมือนเขามีความรู้ แต่การปรับใช้จริงมันไม่เกิด ไม่ติดตามผล”
โปรแกรมที่สร้างสรรค์ใหม่นี้นัดพบกัน 15 คน เดือนละ 1 ครั้งต่อเนื่อง 5 เดือนระหว่างพฤศจิกายนปี 2565 ถึง มีนาคม 2566 ในเดือนแรกให้ความสำคัญกับหลักการข้อที่ 1 อาหารการกินโดยนำคนต้นแบบที่ทำได้จริงๆ มาเล่าประสบการณ์ป่วยเบาหวานที่ดูแลตนเองด้วยสมุนไพรและอาหารท้องถิ่นพื้นบ้าน และยังดูแลคุณแม่ตนเองจนได้ผลดี ไฮไลท์ของครั้งแรกอยู่ที่คณะทำงานจัดเตรียมอาหารพื้นบ้านตามที่วิทยากรกินแล้วให้ผู้เข้าร่วมได้กินด้วยกัน พร้อมตัวอย่างผักพื้นบ้าน สมุนไพรต่าง ๆ สด ๆ มาแสดงให้เห็น ทำให้การอบรมสนุกสนานและมีกำลังใจ นัดพบกันครั้งที่สองมีการบ้านให้ทุกคนเอาผักพื้นบ้านรอบบ้านตัวเองมาด้วย ก่อนกลับทุกคนจะทำการตรวจค่าน้ำตาลเพื่อบันทึกข้อมูลไว้
ครั้งที่สอง เมื่อทุกคนนำผักพื้นบ้านมาวางบนโต๊ะ และสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องผักและสรรพคุณ รวมทั้งวิธีทำอาหารจากผักต่างๆ และเริ่มทำอาหารกันจริงๆ โดยคณะทำงานเตรียมวัตถุดิบ “แกงแคไก่” ไว้ล่วงหน้า แล้วสามารถใส่ผักได้ทุกชนิด เป็นอาหารสุขภาพของทุกคน ผักที่เหลือก็เป็นผักแนมกินด้วย ทุกคนเริ่มรู้จักผักรอบตัว รู้สรรพคุณสมุนไพร และทำเมนูพื้นบ้านมากขึ้น เช่น ผักเชียงดาต้มจิ้มน้ำพริกแล้ว นำไปผัดใส่ไข่ให้เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินอร่อยด้วย ครั้งนี้ให้ความรู้น้ำสมุนไพรไร้น้ำตาลที่ดีต่อเบาหวาน เช่น น้ำฝาง น้ำอ้อยดำ น้ำใบเตย นัดหมายครั้งหน้าอยากกินเมนูอะไร ให้เตรียมผักจากบ้านมา
ครั้งที่สาม ทุกคนเลือก “ยำมะแข้งมะเขือ” เป็นจานหลัก เนื่องจากเป็นอาหารที่ทุกบ้านทำเป็น และกินร่วมกับผักอื่น ๆ และจะเพิ่มไข่ต้มหรือเนื้อสัตว์ก็ได้ ให้ความรู้เพิ่มการกินผักตามฤดูกาล และสรรพคุณสมุนไพรแก้พิษอาหาร เช่น หน่อไม้ควรกินกับใบย่านางหรือขิงแมงดา และชวนคุยสิ่งคุ้นเคยที่ปรับเปลี่ยนยาก คือการปรุงรสหวานมันเค็ม และ “เหยาะชูรส” ชวนทุกคนเวลาทำกินที่บ้านให้ลดลงหรือไม่ต้องใส่ก็อร่อยได้เพราะที่กินกันวันอบรมนั้นชมว่าอร่อยทุกคำโดยไม่ต้องเหยาะชูรสเลย จบท้ายท้าทายให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกาย โดยการ เดิน ขี่จักรยาน แทนการใช้มอตอร์ไซด์ในชีวิตประจำวัน
เดือนที่สี่ ผ่านไป 3 ครั้งก็มาตรวจระดับน้ำตาลในเลือดพบว่า ใน 15 คน มี 4 คน ที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ค่อยได้ ที่เหลือลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ และบอกว่าเดินเหินสะดวกขึ้น นอกจากนี้ คณะทำงานอีก 3 คนร่วมฝึกและปรับการกินด้วยก็พบว่าทั้ง 3 คน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลงเช่นกัน ในครั้งนี้ เริ่มให้ผู้เขาร่วมสลับมาเป็นวิทยากรนำความรู้ผักรอบบ้านและเมนูที่ทำกินจริงๆ ในชีวิตประจำวันมาแลกเปลี่ยนกัน รวมถึงแลกเปลี่ยนพันธุ์ผักและวิธีการปลูกผักด้วย
เดือนสุดท้าย ฉลองกันด้วยเมนู “สุกี้ผักพื้นบ้าน” ให้ทุกคนนำผักบ้านตนเองมา คณะทำงานเตรียมน้ำซุป น้ำจิ้มแนวชูรสด้วยธรรมชาติ กินฉลองกัน แล้วจัดกระบวนการถอดบทเรียนแต่ละคนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการปรับสภาพแวดล้อมปลูกผัก รวมถึงการเดินออกกำลังกาย และเดินไปพูดคุยกับเพื่อนบ้านให้เป็นการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งช่วยสร้างความสุขใจคลายเครียด
คงสงสัยว่าทำอาหารพื้นบ้านกินเองที่บ้านจริงหรือไม่ คณะทำงานใช้กรุ๊ปไลน์เป็นสื่อ ในการเสริมพลังและติดตามทุกสัปดาห์ รวมทั้งแวะเวียนไปเยี่ยมถึงบ้าน ทำให้ทุกคนมีกำลังใจทำได้จริง บางคนยังพาภรรยามากินอาหารสมุนไพรมีสุขภาพดีไปคู่กันด้วย
นี่คือสุขภาพปฐมภูมิด้วยสมุนไพรโดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้านของแท้ ไม่มีลิขสิทธิ์ลอกเลียนได้จ้า.