ความคิดที่ว่า ต้นไม้มีหนามมาก ๆ ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าใกล้น่าจะดำรงรักษาจำนวนไว้ได้มาก แต่กลับเป็นว่าเต็งหนามจัดเป็นต้นไม้ที่มีหนามมากมายตามชื่อเรียกนี้กลายเป็นสมุนไพรที่หายากชนิดหนึ่ง
ที่ได้ชื่อว่า เต็งหนาม ย่อมหมายถึงลำต้นมีหนามมากตั้งแต่ต้นยังมีอายุน้อยๆ แล้วยังมีลักษณะของใบเหมือนกับใบต้นเต็งด้วย ในสายตาของคนภาคอีสานมองว่าพืชชนิดนี้มีลักษณะคล้ายต้นรัง ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า “ต้นฮัง” คนภาคอีสานจึงเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “ฮังหนาม” เพราะเห็นคล้ายต้นรัง แต่ขอทำความเข้าใจต่อไปด้วยว่าทั้งต้นเต็ง (Shorea obtusa) และต้นรัง (Shorea siamensis) เป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกัน ซึ่งอยู่ในวงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) นั่นเอง
มุมมองของชาวบ้านเห็นว่าเต็งหนามใกล้เคียงต้นรัง แต่ต่างจากนักพฤกษศาสตร์ซึ่งได้จัดจำแนกให้เต็งหนามอยู่ในสกุลเดียวกับมะกา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bridelia retusa (L.) A.Juss. อยู่ในวงศ์มะขามป้อม (Phyllanthaceae) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Spinous Kino Tree ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น รังโทน (นครราชสีมา) ฮังหนาม (นครพนม เลย มหาสารคาม) เปาหนาม (ลำปาง) จาลีลึกป๊วก (เขมร-สุรินทร์) ว้อโบ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่ม ผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดไม่แน่นอน เมื่อต้นอ่อนเปลือกต้นผิวเรียบมีสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลเทา เมื่อต้นแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ แตกเป็นร่องยาว และมีหนามแข็งขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณลำต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนาน ยอดอ่อนมีขนสีเทา ใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นบนเส้นใบ ด้านล่างมีขนหรือเรียบเกลี้ยง ใบแก่สีน้ำตาลออกชมพู ช่อดอกยาวเรียว ออกที่ซอกใบ และมักออกตามปลายยอดกิ่ง ที่ใบหลุดร่วงเป็นส่วนใหญ่ ช่อดอกแน่น ดอกมีขนาดเล็ก ดอกแยกเพศ กลีบดอกสีเขียวหรือสีเขียวออกเหลือง อาจพบประสีส้มหรือสีแดง ก้านดอกอ้วน สั้น กลีบดอก 5 กลีบ ปลายแตกออกเป็นซี่ ๆ ผลสดรูปทรงกลมหรือรูปไข่ แข็ง ไม่แตก ผลสีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีม่วงดำ เนื้อในบาง เป็นผลเมล็ดเดียว
พบทั่วไปในป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และที่โล่งแจ้ง ที่ระดับ 600-1,100 เมตร ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ติดผลราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม พบกระจายอยู่ใน บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ อินโดนีเซีย ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย ในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปในป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูง 50-600 เมตร พบที่ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี สกลนคร ภาคตะวันออก จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ภาคกลาง จังหวัดลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันตกเฉียงใต้ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส
ข้อมูลรายงานพบว่ามีการกินผลเต็งหนามด้วย แต่รสชาติไม่อร่อยนะเพราะมีรสฝาด แต่ก็เป็นอาหารของนก ใบใช้เป็นอาหารให้สัตว์ต่างๆ ได้ เนื้อไม้มีความละเอียดสีสวยงามให้สีแดง เหมาะนำไปใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องมือทางการเกษตร ใช้เป็นฟืนทำถ่านได้ดีด้วย
ในส่วนของยาพื้นบ้านอีสาน มีการใช้เปลือกต้น ปิ้งไฟ แช่น้ำเกลือ ดื่มแก้ท้องร่วง หรือนำเปลือกต้น ตำผสมกับหัวแห้วหมู และผักเสี้ยนผีทั้งต้น ทำเป็นลูกประคบ แก้ปวดหัวเข่า
สำหรับตำรายาไทยมีการกล่าวว่า ใช้เปลือกต้นนำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาฝาดสมานอย่างแรง ช่วยแก้ท้องเสียท้องเดินได้ ยางจากเปลือกต้นนำมาผสมน้ำมันงา ใช้ทาถูนวดแก้ปวดข้อ สำหรับส่วนของรากนำมาเข้ายาสมานท้อง แก้ท้องร่วง แก้บิด เป็นยาห้ามเลือดได้
ตำรายาอายุรเวทของอินเดียก็มีการกล่าวถึงเต็งหนามว่าเป็นพืชที่มีกลุ่นฉุนเฉพาะตัว มีรสร้อน ขม ใช้รักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว หรืออัมพาตครึ่งตัว และยังใช้เปลือกเป็นยาขับนิ่วจากกระเพาะปัสสาวะ ใช้ ใบรักษาโรคติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ หรือใบต้มกินรักษาบิด ใบเต็งหนามยังผสมกับพืชอื่นๆ แล้วนำมาผสมน้ำมันละหุ่ง น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันขิง ใช้ทารักษาแผลได้ เปลือกต้มกินเป็นยาคุมกำเนิดในสตรี ส่วนของรากและเปลือกต้นผสมกับน้ำมันงาทาแก้ไขข้ออักเสบ มีรายงานว่าผู้หญิงของชนเผ่าปาลียัน (Paliyan) ในเขตทิรูเนลเวลิ (Tirunelveli) ของรัฐทมิฬนาฑูในอินเดียใช้สารสกัดจากเปลือกของเต็งหนาม เพื่อรักษาอาการตกเลือดหรือมีประจำเดือนออกมามากกว่าปกติ
ในประเทศอื่น เช่น ประเทศศรีลังกามีการใช้ราก เปลือกต้น แก้โรคข้อรูมาติซึม และเป็นยาฝาดสมาน ในประเทศมาเลเซียใช้เปลือกเป็นยาต้านไวรัส ลดน้ำตาลในเลือดและลดความดัน นอกจากนี้มีงานศึกษาวิจัยพบว่าถ้านำเปลือกของลำต้นมาสกัดด้วยโคโรฟอร์มและเมททานอล จะได้สารที่สามารถทำลายแบคทีเรียและฟังไจ (Fungi) (คือสิ่งมีชีวิต ที่ไม่ใช่พืชและไม่ใช่สัตว์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่แยกเป็นกลุ่มใหญ่ ได้แก่ เห็ด รา และยีสต์) ซึ่งสารจากเต็งหนามนี้ช่วยทำลายแบคทีเรียและฟังไจที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
ช่วงเดือนกว่ามานี้ มูลนิธิสุขภาพไทยกับสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไท ตระเวนจัดประชุมกับหมอพื้นบ้าน 5 จังหวัด(เหนือ อีสานและใต้) หมอพื้นบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้นเต็งหนามหายากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นหนึ่งในตัวยาที่ใช้บ่อย ช่วงนี้หน้าแล้ง อีกไม่นานฝนก็มา หากช่วยกันเก็บ เพาะเมล็ดพันธุ์แล้วช่วยกันไปปลูกในพื้นที่ป่าชุมชน หรือที่ว่าง ๆ ก็น่าจะช่วยกันขยายพันธุ์สมุนไพรได้มาก