กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเป็นทางการว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่ 17 ตุลาคมนี้ และคาดการณ์หนาวเรื่อยๆ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ข่าวนี้ทำให้จิตใจหลายคนอิ่มเอมใจอย่างยิ่ง แต่ถ้าดูฝนในแต่ละภูมิภาคก็จะเห็นว่านับจากนี้ไป ภาคเหนือ อีสาน กลางมีฝนน้อยลงแน่นอน แต่ฝนไปตกเอาเขตภาคใต้จนอาจจะต้องเตรียมรับมือน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมในบางพื้นที่ก็เป็นได้
แต่ก็ต้องถือว่าขณะนี้ประเทศไทยเข้าหน้าหนาวแล้ว ทำไมจึงมาชวนผู้อ่านปลูกป่ากับลมหนาว บอกกันตรงๆ ว่า มาชวนไว้ให้เตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้จนฝนหน้ามาเลย ประกอบกับว่าเมื่อกลางปีที่ผ่านมามีกฎหมายพระราชบัญญัติใหม่ประกาศใช้ คือ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ทำให้เกิดการตื่นตัวขึ้น และกฎหมายป่าไม้ ที่เคยควบคุมไม้หวงห้ามไว้นั้นได้มีการแก้ไข้กฎหมายให้การปลูกไม้ที่หายาก ไม้ที่มีคุณค่าและมูลค่าได้ในพื้นที่หรือที่ดินของตนเองแล้วโดยไม่ผิดกฎหมาย ผลของนโยบายนี้ทำให้กรมป่าไม้ที่มีพันธุ์ไม้แจก และชาวบ้านหรือกลุ่มชาวบ้านที่เพาะปลูกต้นไม้มีค่าต่าง ๆ ขายนั้น เท่าที่รู้โดยไม่มีสำนักวิจัยไหนลงไปเก็บข้อมูลพบว่า เครือข่ายเพาะต้นไม้มีค่าทำการเพาะขายไม่ทันเอาเลย
ดังนั้น โอกาสทองมาแล้วจึงชวนทุกคนเตรียมและปลูกป่ากันแต่วันนี้ เตรียมทั้งพันธุ์และผืนดินไว้ฝนหน้ามาเมื่อใด ผืนดินก็จะมีต้นไม้งอกงามแน่นนอน
คำถามคือปลูกต้นอะไรดี ? ในมุมมองของมูลนิธิสุขภาพไทย ที่ต้องการขับเคลื่อนป่าสมุนไพรในป่าชุมชนและป่าครอบครัว (หมายถึงพื้นที่ส่วนตัวที่ทำเป็นป่า)นั้น ขอเสนอแนวคิด ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เจ้าของแนวคิด “วนเกษตร” ผู้ซึ่งเคยติดกับดักการปลูกพืชไร่หวังร่ำรวยแต่กลับมีหนี้สินมากมาย จนได้มาปลูกต้นไม้แบบ “วนเกษตร” ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีผู้นำแนวคิดไปต่อยอดปรับประยุกต์ปลูกแบบป่าครอบครัวมากมาย
แนวทางการปลูกป่าแบบ “วนเกษตร” แนะนำให้ปลูกพืชพันธุ์ แบ่งเป็น 7 ระดับชั้น
ระดับที่ 1 คือ ไม้ยืนต้นหลัก ที่เป็นไม้เรือนยอดส่วนบนสุดของป่า มีความสูงเกิน 20 เมตร เช่น ไม้วงศ์ยางซึ่งเป็นไม้โดดเด่นในป่าไม้เมืองไทย หามาปลูกเลย ได้แก่ ยางนา ยางแดง ยางยูง ยางพลวง ยางเหียน ฯลฯ นอกจากนี้หาต้น กระบาก จันทร์พ้อ เต็ง ตะเคียน พะยอม จำปา กะบก นนทรี กระท้อนป่า ประดู่ เทพพาโร มะค่าโมง สักทอง เป็นต้น
ระดับที่ 2 ไม้ระดับกลาง คือไม้ขนาดย่อมมานิด มีความสูง 10-20 เมตร และเป็นไม้ผลด้วย เช่น กระท้อน ขนุน มะม่วง มะไฟ มะขาม มังคุด น้อยหน่า อิน จัน ส้ม ส้มโอ ตะลิงปลิง มะรุม มันปู มันปลา อบเชยไทย อบเชยเทศ อบเชยป่า ชะมวง หมาก
ระดับที่ 3 ไม้ยืนต้นหรือไม้ที่มีอายุยาว เป็นต้นไม้ที่มีความสูง ต่ำกว่า 10 เมตร อยู่ระดับล่างลงมา เช่น ชะอม เสม็ด ติ้ว แต้ว ก้านตรง มะกรูด มะนาว ยอ จันท์แดง กานพลู แค เต่ารั้ง ฝาง มะเขือ พริก กล้วย ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า มะละกอ ฯลฯ
ระดับที่ 4 ไม้คลุมดิน ซึ่งจะเก็บเป็นอาหารและสมุนไพรได้ง่าย เช่น ตำลึง ตะไคร้ ผักแพว สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ฟ้าทะลายโจร บัวบก ผักบุ้ง ผักไผ่ โด่ไม่รู้ล้ม ฯลฯ
ระดับที่ 5 ไม้น้ำ ก็มีความสำคัญ เช่น บัวหลวง ผักพาย ธูปฤาษี ผักหนาม ผักกรูด สันตะวาใบพาย ฯลฯ
ระดับที่ 6 ไม้หัวใต้ดินก็เป็นสิ่งที่ต้องปลูกเพาะขยายพันธุ์ อย่าไปคิดว่าไม้ยืนต้นเท่านั้นที่สำคัญ ไม้ในกลุ่มนี้เป็นทั้งอาหารและยาสมุนไพรมากมาย เช่น ขมิ้นชัน ขมิ้นขาว ขมิ้นอ้อย กระเจียว ไพล ขิง ข่า กระชาย กะทือ เร่ว บุก ฯลฯ
ระดับที่ 7 คือไม้เลื้อย ไม้เถา ก็ควรปลูกไว้เช่นกัน ตัวอย่าง หวาย ดีปลี พริกไทย ขมิ้นเครือ โคคลาน กำลังเสือโคร่ง เถาเอ็นอ่อน กำแพงเจ็ดชั้น ฯลฯ
หากใครมีที่ไม่ต้องมาก 5-10 ไร่ ก็เริ่มลงมือหาพันธุ์ปลูกได้เลย มีตัวอย่างความสำเร็จเช่นกรณีของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม มีพื้นที่เพียง 9 ไร่ มีพันธุ์ไม้มากมายราว 450 สายพันธุ์ และเครือข่ายป่าครอบครัวที่เป็นคนรุ่นใหม่ ๆ แถบรอยต่อป่าตะวันออก ใกล้จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ใช้ที่ดินแปลงละ 5 ไร่บ้าง 10 ไร่บ้าง ปลูกป่าครอบครัวที่มีความหลากหลาย และเก็บผลผลิตจากป่าสร้างรายได้ทั้งอาหารและสมุนไพร
ที่สำคัญยิ่งในยุคที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับฝุ่นพิษ PM 2.5 นั้น มีการศึกษาวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า การปลูกต้นไม้มาก ๆ จะช่วยลดปริมาณฝุ่นอันตรายเหล่านี้ได้ แม้ว่าจะแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่ก็เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาได้ และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อสุขภาวะให้กับทุกคนด้วย
ปลายฝนต้นหนาว บรรยากาศและอากาศดีตอนนี้ ขอให้เป็นแรงบันดาลใจ เตรียมความพร้อมช่วยกันปลูกป่าให้มาก ๆ ได้ทั้งอาหารและยาสมุนไพร โอกาสต่อไปจะเล่ากรณีศึกษา ป่าชุมชนและป่าครอบครัวที่สามารถทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรออกมาบริการให้กับประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ด้วย