จี้ร.พ.เลิกให้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ พบคนไทยเสี่ยงติดเชื้อ-ดื้อยาเพิ่ม

อย.รณรงค์ลดใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ จนอัตราการติดเชื้อดื้อยาเพิ่มสูงขึ้น สูญเสียปีละหลายพันล้าน ระบุบางโรคไม่ต้องใช้ยาก็หายได้เช่น หวัด เจ็บคอ ท้องเสีย ชี้ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ เพราะรักษาอาการไม่ได้ทุกชนิด แต่คนยังเข้าใจผิด ขณะรามาฯเตรียมปลดรายชื่อยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น 30 ชนิดออกจากบัญชีรายชื่อยาแล้ว

ข่าวพบคนไทยใช้ยาปฏิชีวนะสูงอันดับ 1 สัดส่วน 18-20 เปอร์เซนต์ ของมูลค่ายาที่นำเข้าและผลิตทั้งประเทศ ออกเผยแพร่ในสื่อมวลชนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ไม่ได้เพียงทำให้เห็นว่า คนไทยยังคงมีพฤติกรรมการบริโภคยาที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อบ่งชี้สำคัญถึงอันตรายต่อสุขภาพของคนไทย ที่กำลังเกิดขึ้นจากการดื้อยาของเชื้อจุลชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการบริโภคยาปฏิชีวนะที่ผิด ๆ แบบเกินความจำเป็นนี้อีกด้วย

WHOห่วงใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อจนดื้อยา

ภญ.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการใช้ยาปฎิชีวนะเกินความจำเป็น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่พบว่าประชาชนเกือบทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีความเข้าใจที่ผิดในการใช้ยาประเภทนี้ จนกลายเป็นข้อกังวลขององค์การอนามัยโลก ขอให้มีการรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้ลดการใช้ในกลุ่มนี้ลดลง ซึ่งที่ผ่านมาทั้งในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ก็ได้เดินหน้าให้ความรู้กับประชาชน และในกลุ่มแพทย์ รวมไปถึงเภสัชกร และผู้ที่จะต้องให้ยากับผู้ป่วย ว่าควรคัดเลือกยาในการใช้อย่างไรให้ถูกต้องกับโรค และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2554 ที่ ซึ่งเป็นวันอนามัยโลก ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง พร้อมกับประกาศคำขวัญสร้างความตระหนักไปทั่วโลกว่า “ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ป้องกันเชื้อดื้อยา เพื่อการรักษาที่ได้ผล” (Combat drug resistance – No action today, no cure tomorrow) เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้องหลังจากที่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยา หรือ ซุเปอร์บั๊ก เชื้อแบคทีเรียที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะทั่วไปรักษาได้ คือ เชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.coli) และเคร็ปเซลล่า (Klebsiella Sp.) พบได้บ่อยในระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนเคร็ปเซลล่า พบได้บ่อยในระบบทางเดินหายใจ จนทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อจากแบคทีเรียทั่วไป เป็นเหตุของการเกิดอาการมีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน มึนงง ไอ มีเสมหะ ปัสสาวะ ปวด แสบ ขัด ปวดหัว ปวดหลัง ท้องเสีย ปวดท้อง ถึงขั้นเสียชีวิตจนเป็นข่าวโด่งดัง สร้างความแตกตื่นไปเมื่อหลายปีก่อน ดังนั้นการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ยาปฎิชีวนะอย่างถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นแนวทางเดียวที่จะช่วยลดปัญหาการดื้อยา และลดภาวะเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง

กรุงเทพฯใช้ยาปฏิชีวะนะมากที่สุด

ภญ.นิธิมา กล่าวว่า สำหรับในประเทศไทย มีข้อเท็จจริงที่พบว่า เป็นประเทศหนึ่งที่มีประชาชนใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ โดยพบว่า มูลค่าการผลิตนำเข้าของยาฆ่าเชื้อ และยาปฏิชีวนะ สูงเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และใน ปี 2550คิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท หรือ ร้อยละ 20 ของมูลค่ายาทั้งหมด โดยคนในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มที่ใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคหวัดมากที่สุด ในอัตราสูงถึงร้อยละ 70-80 ในขณะที่มีการใช้ในต่างจังหวัดอยู่ที่ร้อยละ 40-60 ขณะที่ โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ กลับเป็นสถานที่ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลสูงจนน่าตกใจ คือในอัตรา 30-90ทำให้ในรายงาน ADR (อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา) ของยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะ สูงเป็นอันดับ 1ส่งผลถึงอัตราเชื้อดื้อยาของประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยในอัตราร้อยละ 25-50และแน่นอนว่า อัตราการเกิดเชื้อดื้อยามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะนั่นเอง

เชื้อดื้อยา สร้างมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจน่าตกใจ

นอกจากนี้ ในรายงานเรื่อง ผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐศาสตร์จากการติดเชื้อดื้อยาจุลชีพในประเทศไทย โดย สถารบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งได้ประเมินผลกระทบของการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพต่อสุขภาพและความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลในโรงพยาบาลทุกระดับ และข้อมูลการติดเชื้อในโรงพยาบาล 1,023 แห่ง ในปี2553 พบมีการติดเชื้อในโรงพยาบาล จากแบคทีเรียสำคัญ 5 ชนิด

1.เอสเชอริเชีย โคไล หรือ อี โคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและทางเดินอาหาร
2.เคลบซีลลา นิวโมเนอี (Klebsiella pneumoniae) ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ
3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobactor baumannii) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม
4.ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ทำให้เกิดโรคติดเชื้อหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด
5.สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน

ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้นประมาณ 3.24ล้านวัน เสียชีวิต 38,481 ราย ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในปี2552 ที่มี 34,383 ราย และมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหลอดเลือดสมองที่มี 50,829 ราย กลายเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ของยาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาเชื้อดื้อยาจะมีมูลค่าประมาณ 2,539 -6,084 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.6-1.6 ของค่าใช้จ่ายรวมด้านสุขภาพของประเทศในปี 2553 ซึ่งมีมูลค่า392.4 แสนล้านบาท รวมทั้งยังทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วย เช่น ค่าเดินทางและค่าอาหารของญาติ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละกว่า 40,000 ล้านบาท ไม่รวมความสูญเสียจากการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยาในชุมชน

ชี้ร.พ.เอกชนให้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นสูงถึงร้อยละ80

“จากข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียของประเทศไทยดังกล่าว ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ เช่นเมื่อรู้สึกเจ็บป่วย มีอาการเจ็บคอ ก็มักหาซื้อยากินเอง และคิดว่ายาแก้อักเสบ คือยาปฏิชีวนะที่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ทั้งที่บางโรคสามารถหายเองโดยไม่ต้องรักษา บางรายได้รับคำแนะนำจากเพื่อนฝูง ดูจากโฆษณาจากบริษัทยา ทำให้อัตราการใช้เพิ่มสูงอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ในขณะเดียวกันในโรงพยาบาลหลายแห่ง ยังมีการจัดยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นไว้ในบัญชียาด้วย ต้นเหตุเหล่านี้ทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป กลายเป็นอันตรายที่ทำให้เกิดการดื้อยาในเชื้อแบคทีเรียในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น” ภญ.นิธิมา กล่าว

ภญ.นิธิมากล่าวต่อว่า นอกจากความเข้าใจของประชาชนโดยทั่วไปในการใช้ยาปฏิชีวนะที่ผิดแล้ว ในส่วนของบุคลกรทางการแพทย์เอง ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่มักจะสั่งยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นให้กับผู้ป่วย โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า มีการสั่งยาปฏิชีวนะให้กับผู้ที่มารับการรักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลันในโรงพยาบาลของรัฐในอัตราสูงที่ร้อยละ50 ในขณะที่ มีการสั่งยาชนิดนี้ในโรงพยาบาลเอกชนสูงถึงเกือบร้อยละ 80ในโรงพยาบาลเอกชน

อย.รณรงค์ รพ.ลดการใช้แต่ทำได้แต่ในร.พ.เล็กๆ

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก (อย.) พยายามรณรงค์และสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ไม่มีการใช้ยาอย่างพร่ำเพื่อ โดยในการดำเนินการกับสถานพยาบาลต่าง ๆ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยจากการสำรวจในพื้นที่นำร่องหลังการดำเนินโครงการในช่วง 4 เดือน พบว่า จำนวนคนไข้ในโรคเป้าหมาย 3 โรค คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด เจ็บคอ ,โรคท้องร่วงเฉียบพลัน และแผลเลือดออก ได้รับยาปฏิชีวนะลดลง เช่น ที่ โรงพยาบาลชุมชนใน จ.อุบลราชธานี พบว่า ก่อนเริ่มโครงการ มีอัตราการจ่ายยาปฏิชีวนะในโรค URI ที่ร้อยละ 50.4 แต่หลังทำโครงการอเตราการจ่ายยาปฏิชีวนะ ลดลอยู่ที่ร้อยละ 37.5 หรือทำให้มีคนไข้เพียง 19,663 คน จาก 26,410 คน ที่ได้รับยาปฏิชีวนะ แปลว่า โรงพยาบาล จ.อุบลราชธานี ป้องกันคนไข้จำนวน 6,747คน ไม่ให้ได้รับอันตรายจากการได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเพียงตัวอย่างใน 1 โรค ใน 1 พื้นที่ ในช่วงเวลาเพียง 4 เดือน หากคำนวณโดยคิดเป็น 1 ปี โรงพยาบาลุมชน 20 แห่ง ใน จ.อุบลราชธานีจะช่วยป้องกันคนไข้โรค URI จากการได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เป็นจำนวนถึง 20,241 คน นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ยังพบว่า คนไข้ในโรคเป้าหมายที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ และรักษาโรคได้หายเป็นปกติร้อยละ90 มีความพึงพอใจกับการรักษาอีกด้วย

รามาฯเตรียมเสนอตัดทิ้งยาปฏิชีวนะ 30 ชนิดออกจากบัญชี

อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสถานพยาบาลดังกล่าว กลับพบว่า ยังไม่สามารถดำเนินการได้ดีในโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีชื่อเสียง ซึ่งมีบัญชีรายชื่อยาปฏิชีวนะหลากชนิดยาวเป็นหางว่าว ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งปัญหาเรื่องแนวนโยบาย กฎระเบียบ รวมถึงการทำธุรกิจของบริษัทยากับแพทย์ และโรงพยาบาลเอง ทำให้โรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งยังไม่สามารถเริ่มต้นการรณรงค์เช่นนี้ได้ แต่ก็เริ่มมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้แล้ว ในโรงพยาบาลชื่อดังของรัฐหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นต้น

“ที่โรงพยาบาลรามาฯ เรากำลังมีโครงการที่พยายามจัดกลุ่มยาอันตราย และพยายามลดรายชื่อยาปฏิชีวนะ ในบัญชีรายชื่อยาของโรงพยาบาล เพราะยาบางชนิดคนไข้หรือแพทย์เองคิดว่าไม่มีอันตราย ทั้งที่จริงแล้วยาปฏิชีวนะมีหลายระดับ ตอนนี้เรากำลังจะเสนอให้นำรายชื่อยาปฏิชีวนะจำนวน 30 รายการออกจากบัญชีรายชื่อยา และมีไว้เฉพาะชนิดที่จำเป็นเท่านั้น” ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อคณะแพทย์ศาสตร์ รามาธิบดี กล่าว

หวัดจากเชื้อไวรัสใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียไม่หาย

ภญ.นิธิมา กล่าวว่า สำหรับยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด เช่น เนนิซิลลิน อะม๊อกซิซิลลิน เตต้าซัยคลิน อิริทโทรมัยซิน โคทรัยม็อกซาโซล ซัลฟา เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดใช้รักษาแบคทีเรียต่างชนิดกัน ซึ่งยาปฏิชีวนะต้องใช้เฉพาะเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้ก็ต้องตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ ไม่ใช่จะใช้ยาชนิดใดก็ได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดคิดว่า เมื่อเป็นหวัด มีการเจ็บคอ น้ำมูกไหล เสียงแหบ มีเสมหะต้องกินยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะอาการเหล่านี้เป็นอาการของโรคหวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนยาปฏิชีวนะใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงใช้ไม่ได้ผลกับโรคหวัด

“โรคหวัดกินเวลาประมาณ 7-10 วัน ช่วงแรกผู้ป่วยมักมีน้ำมูก หรือเสมหะ ขาวใส แต่เมื่อหวัดใกล้หาย น้ำมูกหรือเสมหะจะข้นขึ้นและอาจเปลี่ยนเป็นสีเขียว เหลือ แต่คนมักเข้าใจผิดคิดว่าอาการแย่ลง จึงเริ่มหายาปฏิชีวนะมากิน ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะแม้ไม่กินยาปฏิชีวนะ โรคหวัดก็หายได้เองอยู่แล้ว ดังนั้น การกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งที่เป็นหวัด หรือมีน้ำมูกหรือเสมหะสีเขียวเหลืองจึงไม่ถูกต้อง”

ใช้ยาผิดอาจแพ้ถึงตายได้

สำหรับอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมนั้น ภญ.นิธิมากล่าวว่า อาจจะทำให้เกิดอาการหลายอย่าง ตั้งแต่การแพ้ยา ซึ่งมีอาการตั้งแต่เล็กน้อย เช่น ผื่น คัน กระทั่งถึงอาการรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ เช่น รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก และช็อค หรือ เป็นอาการข้างเคียง เช่น เกิดอาการคลื่นไส้ ทองเดิน ไปจนถึง ตับอักเสบ ตาบอด และเอ็นร้อยหวายฉีกขาด เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้ หากมีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งอันตรายที่สำคัญ และเป็นที่กังวลกันมากทั่วโลก คือ การทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เพราะหากมีการใช้ยาจนมากเกินไป ทำให้ผู้ใช้จะต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะอื่นที่แพงขึ้น มีผลข้างเคียงหรืออันตรายมากขึ้น ใช้เวลารักษานานขึ้น สุดท้ายจะไม่มียารักษาอาหารให้หายได้ และเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นนี้ยังสามารถติดต่อสู่คนรอบข้างได้ผ่านทางการไอ จาม กิน และสัมผัส และหากเชื้อดื้อยากระจายออกไปมากๆ ก็จะเป็นอันตรายต่อสังคมโดยรวมได้

“นอกจากนี้อันตรายของการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ยังทำให้ผู้ใช้สามารถติดเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อนได้ เช่น เชื้อรา ทำให้มีตกขาว คันก้น หรือเป็นฝ้าขาวในช่องปาก หรือติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่รักษาได้ยากทำให้ป่วยหนัก ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอีกด้วย”

เข้าใจใหม่ ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ

ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเข้าใจที่ผิด ต่อการเรียกชื่อยาปฏิชีวนะ ที่ คนไทยมักจะใช้ชื่อเรียกว่า “ยาแก้อักเสบ” เพราะแท้จริงแล้ว ยาปฏิชีวนะไม่ได้เป็นยาที่สามารถรักษาได้ทุกการอักเสบ โดย ภญ.นิธิมา อธิบายว่า การอักเสบเป็นผลจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกาย ก่อให้เกิดอาการปวด บวม แดง และอาจมีไข้ โดยการอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ 1.การอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 2.การอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส 3.การอักเสบจากการไม่ติดเชื้อ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดประจำเดือน หลอดลมอักเสบจากโรคภูมิแพ้

การอักเสบส่วนใหญ่ไมได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่ยาปฏิชีวนะเป็นยาที่ใช้รักษาอาการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่ได้รักษาอาการอักเสบจากเชื้อไวรัส เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือการอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ ดังนั้นการเรียกยาปฏิชีวนะว่า ยาแก้อักเสบ จึงไม่ถูกต้อง เพราะทำให้เข้าใจผิดว่า ทุกครั้งที่มีอาการอักเสบไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาทั้งหมด ซึ่งอันตรายมากเพราะอาการอักเสบที่เป็นอยู่ก็ไม่หาย แต่ยังเสี่ยงกับผลข้างเคียงของยา แพ้ยา และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

หวัดเจ็บคอ-ท้องเสีย-แผลเลือดออก หายเองได้ไม่ต้องกินยา

สำหรับ 3 โรค ที่คนไทยมักเข้าใจว่าจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาทั้งที่แท้จริงแล้วสามารถ หายเองได้ ด้วยภูมิต้านทานของร่างกายโดยไม่ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่
1.หวัดเจ็บคอ ส่วนใหญ่ร้อยละกว่า 80 เกิดจากเชื้อไวรัส มีอาการ เช่น น้ำมูกไหล ไอ เสียงแหบ เจ็บคอ มีไข้ โดยทั่วไปโรคนี้จะเป็นประมาณ 7-10 วัน โดยในวันที่ 3-4จะมีอาการมากที่สุด แต่หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นเอง แต่ถ้าเจ็บคอมีหนองที่ต่อมทอนซิล ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโต และกดเจ็บ หรือการแย่ลงต้องไปพบแพทย์
2.ท้องเสีย เกือบทั้งหมด ประมาณร้อยละ 99 เกิดจากเชื้อไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ อาจมีคลื่นไห้ อาเจียนร่วมด้วย รักษาโดยดื่มน้ำเกลือแร่ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้ามีไข้ และอุจจาระมีมูกปนเลือดต้องไปพบแพทย์
3.แผลเลือดออก เช่น แผลมีดบาด แผลถลอก บาดแผลเล็กน้อยจากอุบัติเหตุซึ่งล้างทำความสะอาดได้ถูกต้องและสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ และไม่ได้ทำให้แผลหายเร็วขึ้น แต่ถ้าเป็นแผลที่เท้า ตะปูตำ สัตว์กัด หรือถูกสิ่งสกปรก เช่น มูลสัตว์ หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ต้องไปพบแพทย์

ที่มา : ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เจ็บคอไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ชี้หายได้ด้วยภูมิต้านทานโรค

admin 5 เมษายน 2019

เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง หลายคนถามหายาแก้อักเสบ คนไทย […]

ยาปฏิชีวนะเสียคุณสมบัติในการรักษาแล้วทั่วโลก

admin 5 เมษายน 2019

ขณะนี้องค์การอนามัยโลกประกาศว่าถึงยุคที่ยาปฏิชีวนะนั้นไ […]

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand