เมื่อเอ่ยถึงสมุนไพรรางจืดที่บางครั้งออกเสียงเรียกท้องถิ่นว่าจางจืด คนส่วนใหญ่จะนึกถึงต้นรางจืด ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia Lindl. ซึ่งเป็นไม้เถา แต่ยังมีสมุนไพรอีกต้นชื่อว่า จางจืด ที่เป็นที่รู้จักและใช้กันมากในหมู่หมอยาพื้นบ้าน แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักต้นและสรรพคุณของไม้ชนิดนี้ ทั้งๆ ที่จางจืด เป็นไม้ที่กรมป่าไม้นำมาใช้เป็นไม้เบิกนำในการปลูกป่า โดยเฉพาะป่าทางภาคเหนือ
แนะนำ จางจืด ให้รู้จักสักนิด เป็นพืชที่มีการกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น จางจืด (มุกดาหาร) โจ๊กขน มะเฟืองป่า (เชียงใหม่) ซงแก (ยะลา) ตาปลาต้น นางใย แฟนน้อย (เลย) ตาเสือทุ่ง (ปัตตานี) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Musk mallow หรือ Indian Heynea ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heynea trijuga Roxb. ex Sims เป็นไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ใบประกอบแบบขนนก ดอกสีขาว ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ออกดอกช่วงกรกฎาคม-กันยายน ผลรูปทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผลแก่มีสีแดงเข้ม เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ในเอเชียตะวันออก จีนตอนใต้ อินเดีย เนปาล ภูฏาน ไทย ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พบมากในป่าดิบแล้งตามเชิงเขา เจริญได้ดีในระดับความสูง 200-1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล จัดเป็นไม้โตเร็ว กระจายพันธุ์ (เมล็ด) โดยนกและค้างคาว จางจืดจัดเป็นไม้เนื้ออ่อน เมล็ดมีน้ำมันที่คนพื้นเมืองนิยมสกัดนำไปใช้เคลือบภาชนะ และมีรายงานว่าเมล็ดมีพิษร้ายแรง
หมอพื้นบ้านที่ภาคเหนือและภาคอีสานรู้จักใช้จางจืดเป็นยาพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน เช่น ในกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายอินแปลงในจังหวัดสกลนคร เรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า ว่าน 108 เพราะนำมาใช้เข้ายาได้หลากหลายขนานมาก หมอพื้นบ้านที่อุดรธานีเรียกจางจืดว่า “ว่านมหาเมฆ” ส่วนหมอพื้นบ้านกระเหรี่ยงเรียกว่า “บอปาซ่า” หมอพื้นบ้านที่รู้จักใช้จางจืดเข้าตำรับยานั้น จะเป็นหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์สูง ซึ่งส่วนใหญ่ล้มหายตายจากไปจนหมดแล้ว ทำให้ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรชนิดนี้ลดลงไปเรื่อย ๆ โชคดีที่ในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรในพื้นที่บ้านหมอพื้นบ้าน ได้ไปพบกับหมอประกาศิต อำไพพิศ หรือ หมอไส จากจังหวัดบุรีรัมย์ที่ยังมีการใช้สมุนไพรชนิดนี้อยู่ หมอไสบรรยายให้ฟังว่า จางจืดเป็นสมุนไพรที่ใช้ดับพิษทุกชนิด ทุกส่วนของสมุนไพรมีรสขม จากประสบการณ์การใช้ของหมอไส พอสรุปสรรพคุณที่ใช้รักษาโรค/อาการต่าง ๆ ดังนี้
แก้แพ้เห็ดหรือโดนพิษจากเห็ด ให้ใช้ใบเคี้ยวหรือนำใบมายอง (ขยี้ให้แหลก) หรือตำให้แหลก คั้นเอาน้ำดื่มจะสลายพิษเห็ดได้อย่างรวดเร็ว ให้แก้พิษงูกัดหรือสัตว์พิษอื่น ๆ กัด ให้ใช้รากฝนกับเหล้าดื่ม ถ้าไม่มีเหล้าให้ใช้น้ำมะนาว แต่จะออกฤทธิ์ช้ากว่าเหล้า ใช้แก้พิษจากอาหารทะเล เมื่อกินอาหารทะเลแล้วมีอาการแพ้ อาเจียนและถ่ายท้องอย่างแรง ให้กินใบที่บรรจุในแคปซูลแล้ว 2-5 แคลซูล โดยให้กินร่วมกับน้ำตรีผลา ซึ่งน้ำตรีผลานี้ไม่เหมือนทั่วไป หมอพื้นบ้านจะนำสมอไทย สมอพิเภกและมะขามป้อมมาดองในน้ำอ้อย และเก็บอย่างดีไว้ประมาณ 3 ปี จึงจะนำมาใช้
นอกจากนี้ยังใช้ จางจืดแก้ไข้ทุกชนิด โดยเฉพาะไข้หัด อีสุกอีใสในเด็ก ในการรักษาไข้สามารถใช้ได้ทุกส่วน ในปัจจุบันนำใบมาตากแห้งบดเป็นผงใส่แคปซูล ใช้ได้ผลดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ใช้แก้อาการติดเชื้อในร่างกาย โดยรากจางจืด รากย่านางแดง และรากสบู่เลือด เอามาฝนรวมกัน ใช้ดื่มและทาบริเวณที่บวมแดงได้ด้วย ตำรับนี้ยังมีการนำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยฝนยาทั้ง 3 รากให้ดื่ม 2-3 ครั้งต่อวัน สูตร 3 รากนี้ควรหามาให้ครบ เพราะหมอไสเคยลองใช้แค่ 2 ราก คือจางจืดและย่านางแดง จะไม่ได้ผลดีเท่า 3 ราก
ในอดีตและยังสืบต่อในปัจจุบันพบว่าพระนักปฏิบัติหรือสายพระป่าทุกท่านมักจะพกยา 2 ราก คือรากจางจืดและย่านางแดงไว้ในย่ามเสมอ เพื่อใช้เมื่อยามเจ็บป่วย เพราะช่วยรักษาอาการได้หลายอย่าง รวมทั้งแก้ยาสั่งด้วย มีความเชื่อกันว่าพระสายธุดงค์ไปยังที่ต่าง ๆ นั้น จะมีบางคนที่เห็นพระเหล่านี้แล้วอยากลองของก็จะใช้ยาสั่งกับพระ สมุนไพรในย่ามพระ 2 รากนี้จะช่วยแก้อาการแพ้ต่าง ๆ หรือแก้กินผิดได้ หมอประกาศิตเล่าว่าได้ใช้ตำรับยาที่เข้าจางจืดช่วยผู้ป่วยมาหลายร้อยรายแล้ว
ในเวลานี้ยังไม่พบเห็นนักวิชาการไทยสนใจศึกษาสรรพคุณของสมุนไพรจางจืดนี้เลย แต่พบนักวิชาการต่างประเทศทำการศึกษาสรรพคุณของจางจืดไว้บ้างแล้ว เช่น ในปี ค.ศ. 2012 จีนทำการศึกษาหาสารสำคัญจากใบและกิ่งของต้นจางจืด พบสารใหม่ 5 ชนิด ที่มีสรรพคุณในการต้านมะเร็ง ในปี ค.ศ. 2018 มีนักวิชาการของจีนอีกกลุ่มหนึ่งศึกษาสารสกัดจากเมล็ด พบสารใหม่ 11 ชนิด ซึ่งมีสรรพคุณในการต้านมะเร็งเต้านมชนิด MCF-7/DOX cells ได้ และในปี ค.ศ.2019 นักวิชาการจากจีนอีกกลุ่มหนึ่งทำการศึกษาหาสารสำคัญจากใบจางจืด ค้นพบสารใหม่ 6 ชนิด ทุกชนิดสามารถต่อต้านเซลล์มะเร็งตับชนิด BEL-7402
ในปี ค.ศ. 2017 นักวิทยาศาสตร์จากอินเดียศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดของจางจืด พบว่ามีสรรพคุณสูงในการที่จะนำไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องสำอาง และในปี ค.ศ. 2012 นักวิทยาศาสตร์จากจีนทำการศึกษาสารสกัดจากใบ พบว่ามีสารสำคัญส่วนหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการใช้เป็นยากำจัดแมลงได้
จางจืดกำลังเป็นที่สนใจของจีนและอินเดีย แต่ในไทยยังสนใจกันน้อยทั้ง ๆ ที่ ในภูมิปัญญาท้องถิ่นมีการใช้ประโยชน์ไม่น้อยเลย ชื่อจางจืดน่าจะทำให้โรคภัยจืดจางลงหมดพิษสง เราน่าจะเร่งทำการศึกษาวิจัยให้มากขึ้นต่อไป.