เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ซึ่งเป็นคนพื้นเพ จ.นครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า 4-5 เดือนที่ผ่านมาได้ออกทำงานชุมชนกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านใน 2 จังหวัดทั้งพัทลุงและนครศรีธรรมราช เหมือนกลับไปรับใช้ท้องถิ่นที่เคยทำงานและที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง เพียงแค่ 2 จังหวัดที่ทำงานและริเริ่มงานระดับหมู่บ้านใน 4 ตำบลก็พบว่า สังคมไทยในท้องถิ่นร่ำรวยภูมิปัญญาด้านสุขภาพ มีทั้งความรู้ในครัวเรือนและความรู้จากหมอพื้นบ้านที่ยังคงยู่ในชุมชน สามารถช่วยเหลือตั้งแต่ดูแลตนเอง ใช้ป้องกันและบำบัดรักษาด้วย ถือเป็นสายธารการดูแลสุขภาพตามวิถีวัฒนธรรมที่ใช้ได้จริง
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มิตรสหายคนเมืองคอนได้ร่วมงานที่วัดดอนตรอ ซึ่งเป็นวัดสำคัญของคนในชุมชน เพื่อจัดงานประเพณีที่เรียกว่า “ให้ทานไฟ” ญาติพี่น้องในตระกูลก็พร้อมใจกันเตรียมงาน โดยช่วยกันทำขนมที่เรียกว่า “เหนียวโคลาว” ไปร่วมกับการถวายอาหารเลี้ยงพระและแบ่งปันให้กับคนมาทำบุญ เหนียวโคลาว จะเรียกว่าเป็นแนวขนมดั้งเดิมหรือขนมโคลาวนี้ ถ้าเป็นคนภาคอื่นๆ มองภายนอกก็จะคิดว่า คือ ข้าวต้มมัดที่มีขนาดใหญ่มากๆ และเมื่อแกะห่อกินก็จะแปลกใจที่ไม่มีไส้กล้วย มีแต่ข้าวเหนียวเพียงอย่างเดียว (ทราบว่าในบางท้องถิ่นอาจใส่ไส้ได้ด้วย)
เหนียวโคลาวนี้มีเทคนิคการทำ คือ ตัดใบเตยขนาดเล็กวางรองไว้เพื่อให้ข้าวเหนียวมีความหอม แต่การปรุงนั้นจะไม่นำข้าวเหนียวไปผัดก่อนเหมือนกับทำข้าวต้มมัด แต่จะให้เนื้อของขนม(ข้าวเหนียว) ค่อยๆสุกในห่อ เมื่อสุกแล้วจะเหนียวแน่น เก็บไว้กินได้ 3-4 วันสบายๆ โดยไม่บูด การกินให้อร่อยจะกินกับมะพร้ามขูด รสชาติเข้ากันมากใครไม่เคยลองลิ้มชิมรสให้หาโอกาสมาเมืองคอนกินสักครั้งในชีวิต เพราะเพื่อน ๆ หลายคนเมื่อกินแล้วต่างออกปากชมกันมามากมาย
ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพที่ขอไฮไลท์ไว้ตรงนี้ อยู่ที่พืชสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน ที่นำมาห่อและมัดขนมด้วย คือ ต้นคล้า (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Schumannianthus dichotomus (Roxb.) Gagnep.) เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ในบริเวณชายป่าข้างบ้าน ชอบขึ้นในที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดทั้งปี ลักษณะไม้ล้มลุก สูง 2-4 เมตร แตกเป็นกอ ลำต้นและกิ่งกลม แข็ง สีเขียวเข้ม ใบเดี่ยว เรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบมน ดอกสีขาว ออกเป็นช่อๆ ละ 2-3 ดอก มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น แหย่ง (เหนือ) หญ้าเข่าเปียง (น่าน) คล้า (ภาคกลาง นครศรีธรรมราช) ก้านพร้า (ภาคกลาง) บูแมจี่จ๊ะไอย์ (มลายู ปัตตานี) คลุ่ม คลุ้ม คล้าก้านแหย่ง
ชาวบ้านนิยมนำต้นคล้ามาใช้ทำตอกสำหรับเย็บจากหรือมัดของ ตอกที่ได้จากต้นคล้าเหนียวและแข็งแรงมาก เหนียวโคลาวรสอร่อยนี้ก็ใช้ตอกจากต้นคล้ามามัดให้เหนียวแน่นเช่นกัน ชาวบ้านนิยมนำตอกต้นคล้ามาสานเป็นเครื่องมือหาปลา เช่น ไซดักปลา ข้องใส่ปลา เป็นต้น และตอกของต้นคล้าหรือเชือกที่ทำจากต้นคล้าสามารถนำมาใช้เย็บใบสาคูเพื่อใช้มุงหลังคาสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ด้วย ซึ่งก็น่าแปลกมากในธรรมชาติต้นสาคูกับต้นคล้ามักจะอาศัยอยู่ด้วยกัน ชอบพื้นที่ลุ่มน้ำ แล้วต่างก็นำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย ทางภาคอีสานก็พบกระติ๊บข้าวจากคล้าด้วย
นอกจากการใช้ประโยชน์ทางหัตถกรรมแล้ว หัวคล้าหรือเหง้าคล้า มีสรรพคุณ แก้ไข้ตัวร้อนได้อย่างดี ดั่งคำที่ได้ยินในวัฒนธรรมทางใต้ว่า “ร้อนรุ่มๆ หัวคลุ้มหัวคล้า ร้อนกล้าๆ หัวคล้าหัวคลุ้ม” นี่คือสายธารภูมิปัญญาที่เป็นหลักฐานสำคัญว่า หัวคล้านิยมนำใช้เป็นยาสมุนไพรแก้ไข้ได้ วิธีใช้อย่างง่ายๆ ตำรับยา ใช้หัวคล้า นำมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นแว่น ตากแดดให้แห้ง นำมาต้ม ใช้น้ำ 3 แก้วต้มให้เหลือ 1 แก้ว กินก่อนอาหาร เช้าเย็น ช่วยแก้ไข้ ตัวร้อนได้
สรรพคุณทางยาในตำรับยาไทย กล่าวถึงคล้าว่า หัวหรือเหง้า ใช้แก้พิษไข้ทั้งปวง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้รากสาด แก้ไข้เหนือ แก้ไข้พิษ แก้ไข้กาฬ แก้ไข้ปอดบวม แก้เหือด หัด อีสุกอีใส แก้ฝีดาษ แก้ประดง แก้ไข้จับสั่น
เพื่อนเมืองคอนยังเล่าว่า เห็นแม่เฒ่า (ยาย) ทำเหนียวโคลาวมาตั้งแต่เด็ก ได้กินและชอบกินมาตลอด แต่เมื่อครั้งยังวัยเยาว์สนใจแต่ความเอร็ดอร่อย แต่เมื่อได้มาทำงานส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ได้ทบทวนหวนคิดอีกครั้ง ก็พบว่า เหนียวโคลาวนี้มีความเกี่ยวพันธ์และสำคัญสายตระกูลมากทีเดียว จากคำบอกเล่าจากแม่ว่า “ทวดเราเป็นพราหมณ์มาจากในวังนะ” (วังเมืองนครศรีธรรมราช) และเมื่อสืบค้นข้อมูลเพิ่มก็พบว่า เหนียวโคลาวนี้ใช้ในการประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ด้วย ศิลปะ เทคนิคการปรุงและการทำ เรื่องราวต่างๆ จึงสืบทอดอยู่ในวงตระกูลของเพื่อนเมืองคอนคนนี้ด้วย นี่น่าเป็นตัวอย่างความความภูมิใจและการใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นด้วย
เมื่อฟังเรื่องราวจากนครศรีธรรมราชประกอบเรื่องความเชื่อของคนไทยโบราณที่สืบมาถึงปัจจุบันว่า บ้านใดปลูกต้นคล้าไว้ประจำบ้าน จะช่วยคุ้มครองรักษาให้มีความสงบสุข เพราะชื่อ คล้า หรือ คลุ้ม มีความหมายว่า คล้า คือ คล้าคลาด(แคล้วคลาด) จากภัยอันตราย จากพิษร้าย หรือภัยศัตรูทั้งปวง ส่วนชื่อเรียกว่า คลุ้ม ย่อมหมายถึง การคุ้มครอง ปกป้องรักษา นอกจากนี้ความเชื่อโบราณยังเรียก คล้าว่า พุทธรักษาน้ำ นามนี้จึงเป็นไม้มงคล หมายถึงมีพระพุทธเจ้ารักษานั่นเอง
คล้า ขยายพันธุ์ด้วยการใช้หัว เหง้า หรือหน่อ เป็นพืชสมุนไพรที่ตอบโจทย์แก้ไข้เพื่อการพึ่งตนเองได้ ใช้ในด้านอาหาร งานจักสาน และเป็นไม้มงคลเสริมสร้างจิตใจด้วย.