วันนี้ (25 ส.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง “การตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทย” ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งหมด 3,024 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 4 ภูมิภาครวม 24 จังหวัด เมื่อต้น มิ.ย. 2558 พบว่า คนไทยยังมีความรู้สึกรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ร้อยละ 20.7 เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 11.5 รังเกียจผู้ป่วยเอดส์ ร้อยละ 43.3 เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่อยู่ที่ร้อยละ 29.1 นอกจากนี้ คนไทยเห็นว่าควรตรวจเชื้อเอชไอวีก่อนสมัครเรียน ร้อยละ 48 ก่อนบวชร้อยละ 50.4 และก่อนสมัครเข้าทำงานร้อยละ 58.5
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับด้านพฤติกรรม พบว่า ไม่ยินดีที่ต้องว่ายน้ำในสระเดียวกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 51.2 ไม่ยินดีอยู่ร่วมบ้านกับคนในครอบครัวที่ติดเชื้อร้อยละ 36.5 ไม่ยินดีกินข้าวกับคนในครอบครัวที่ติดเชื้อร้อยละ 31.3 ไม่ยินดีกินข้าวกับเพื่อนสนิทที่ติดเชื้อร้อยละ 34.9 ไม่ยินดีให้ลูกเรียนหนังสือร่วมชั้นกับเด็กที่ติดเชื้อ ร้อยละ 40.9 ไม่ยินดีให้ลูกเล่นกับเด็กที่มีเชื้อ ร้อยละ 47.4 ไม่ยินดีใช้ห้องน้ำร่วมกับคนป่วยเอดส์ร้อยละ 44.8 ไม่ยินดีดูแลคนในครอบครัวที่ป่วยเอดส์ด้วยตนเองร้อยละ 33.1 นอกจากนี้ ถ้าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีมีคนกล้าบอกคนในครอบครัวอยู่ที่ร้อยละ 46.2 ลดลงจากปี 2557 ที่อยู่ที่ร้อยละ 79.4 เดินหนีคนรู้จักที่รู้ว่าติดเชื้อร้อยละ 30.3 ไปตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีฟรีในห้างสรรพสินค้าร้อยละ 44.1 ลดลงจากปี 2557 ที่อยู่ที่ร้อยละ 63.1
“ที่น่าห่วงคือ การรับรู้เกี่ยวกับเรื่องเอชไอวี เอดส์ นั้นยังต่ำมาก โดยพบว่า คนไทยกว่าร้อยละ 54 ยังคิดว่าติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ได้จากการถูกยุงกัด ไม่รู้และไม่แน่ใจว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่สถานพยาบาลของรัฐฟรี ปีละ 2 ครั้ง ร้อยละ 56.5 และไม่รู้และไม่แน่ใจว่าได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟรีหากพบการติดเชื้อถึงร้อยละ 80.4 ทั้งนี้ กรมฯ จะเร่งดำเนินการให้ความรู้เรื่องโรคและสิทธิของคนไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดการตีตราและกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์” อธิบดี คร. กล่าว
น.ส.จารุณี ศิริพันธุ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะเพื่อทำลายภาพจำและลดการตีตราจะต้องสื่อสารข้อเท็จจริงใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. สร้างความเข้าใจว่าใครก็สามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ถ้าไม่ป้องกัน 2.เมื่อติดเชื้อสามารถมีชีวิตยืนยาวได้ เพราะมียารักษาและยาป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาฉวยโอกาส ขณะที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำและมียาต้านไวรัสเอชไอวีช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นให้เดินเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งก็ไม่ต่างจากการรักษาโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น เบาหวาน และ 3. การใช้ชีวิตร่วมกัน อยู่บ้านเดียวกัน กินข้าว เรียน ทำงาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันไม่ติดเชื้อเอชไอวี
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 ส.ค.2558