คนไทยควักเงินตรวจสุขภาพเพิ่ม125%

รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ประธานกรรมการมูลนิธิหมอชาวบ้าน และประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น “นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” กล่าวว่า คนไทยจำนวนมากนิยมตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนหนึ่งเกิดจากเหตุผลเชิงธุรกิจของสถานพยาบาลที่ใช้บริการตรวจสุขภาพเป็นจุดขายโดยกำหนดแพ็คเก็จการตรวจสุขภาพขึ้นหลายชุดหลายระดับ และหลายราคาให้เลือก เน้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งที่จำเป็นและเกินความจำเป็น ทำให้ประชาชนรู้สึกพอใจ หรือสบายใจที่ได้ตรวจเช็คหลายรายการ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงเกินความจำเป็นทั้งที่ประชาชนได้รับประโยชน์จากการตรวจสุขภาพแบบนี้น้อย และไม่ใช่การส่งเสริมสุขภาพอย่างแท้จริง “การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ได้แก่ เพศ อายุ ปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆบางคนคิดว่าร่างกายก็เหมือนรถยนต์ที่ต้องไปตรวจเช็คเป็นระยะทุก 6-12 เดือนแม้รู้สึกสุขสบายดี ก็ยอมเสียเงินไปตรวจเป็นระยะ และคนส่วนใหญ่กลัวโรคร้ายที่ทำให้อายุสั้น เช่น มะเร็ง ดังนั้น โปรแกรมตรวจมะเร็งขายดีมาก แต่คนไม่รู้ว่า มีมะเร็งไม่กี่ประเภทเท่านั้นที่สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆและให้การบำบัดรักษาได้ผลดี เช่น มะเร็งเต้านม ปากมดลูก แต่วิธีการตรวจนั้นต้องไม่แพง และมีความแม่นยำ”

ปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานระดับชาติที่รับผิดชอบดูแลภาพรวมในเรื่องของการตรวจสุขภาพ อีกทั้งในส่วนขององค์ความรู้ ที่แม้จะมีนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้มากกว่า 10 ปี แต่ก็ยังไม่ได้นำไปสู่การกำหนดนโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม ส่งผลให้ประชาชนขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพเพราะไปมุ่งเน้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก ซึ่งแท้จริงแล้วการตรวจทางห้องปฏิบัติ ไม่ได้แม่นยำ100% มีทั้ง”ผลบวกลวง” คือ ผลการตรวจเบื้องต้นพบว่าเป็นโรค แต่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นทำให้สิ้นเปลืองและเสี่ยงต่อการที่ต้องรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหรือรักษาโดยไม่จำเป็น

“ตรงข้ามกับผู้ที่ตรวจแล้วได้ผลลบลวง ไม่ถูกวินิจฉัยเจ้าตัวก็ประมาท ไม่สนใจที่จะดูแลใส่ใจตัวเอง ไม่ลดพฤติกรรมเสี่ยง ”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตรวจสุขภาพเกินความจำเป็น แต่ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่ง กลับไม่ตระหนักถึงความสำคัญ และไม่ได้รับการตรวจสุขภาพที่จำเป็นอย่างเพียงพอ อันเนื่องมาจากปัญหาหลายด้าน ทั้งความยากจน รายได้ การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข รวมทั้งระบบสวัสดิการและระบบบริการ ที่ไม่เอื้ออำนวยให้ได้รับบริการตามความเหมาะสม

รศ.นพ. สุรเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานกลางของระบบ 3 กองทุน ทำให้สิทธิการตรวจสุขภาพของประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการและกลุ่มที่เป็นข้าราชการ มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มากโดยเป็นไปในลักษณะทั้งไม่เพียงพอและเกินความจำเป็นโดย

1.ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการได้รับบริการตรวจตามชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นการตรวจที่มุ่งเน้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการถึง 16 รายการ

ปัจจุบันหากประมาณการค่าใช้จ่ายในกรณีที่ผู้มีสิทธิ เข้ารับการตรวจสุขภาพตามรายการที่กำหนดทุกคนซึ่งมีจำนวน 1.9 ล้านคน จะต้องใช้งบประมาณถึง 1,672 ล้านบาท

“ชุดสิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการได้รับดังกล่าวยังขาดข้อมูลสนับสนุนถึงความเหมาะสมและความจำเป็นว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปหรือไม่ และมีการศึกษาพบว่าหลายรายการเป็นการตรวจสุขภาพที่เกินความจำเป็น”

2. ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพบว่ากฎหมายสนับสนุนให้สถานพยาบาล ทำการตรวจค้นหามะเร็งปากมดลูกภาวะซึมเศร้า กลุ่มโรคทางเมตาบอลิก และการติดเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตามการตรวจดังกล่าวอาจยังไม่ครอบคลุมถึงความจำเป็นในการตรวจสุขภาพของประชาชนทั้งหมด

3.ระบบประกันสังคมพบว่าผู้ประกันตนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจนมีเพียงการกำหนดกว้างๆให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง และจัดให้มีสมุดสุขภาพประจำตัวลูกจ้างเท่านั้น จึงทำให้ผู้ประกันตนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเองหากต้องการตรวจสุขภาพตามที่ตนเองเห็นควร

นอกจากนี้ยังพบว่าการตรวจสุขภาพตามสิทธิดังกล่าวที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันยังขาดคุณภาพในการตรวจกรองหาความผิดปกติที่แฝงอยู่ในร่างกาย

“สิทธิประโยชน์ของประชาชนในปัจจุบัน ถือว่ายังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก สิทธิตรวจสุขภาพของข้าราชการมีมากที่สุดส่วนประกันสังคมยังไม่ชัดเจนในสิทธิส่วนนี้ มีเฉพาะกรณีผู้ทำงานสัมผัสสารเคมีที่มีสิทธิเพิ่มเติม ส่วนประกันสุขภาพฯก็ให้สิทธิหลายอย่าง เช่น กรณีโรคมะเร็งปากมดลูก เบาหวาน ความดัน ที่ผ่านมาถือว่าระบบประกันสุขภาพฯ ได้มีการทำงานเชิงรุกพอสมควรมีการออกไปชุมชน เพื่อตรวจและให้บริการประชาชน”

รศ. นพ.สุรเกียรติ กล่าวว่า อยากให้การบริการของทั้ง 3 ระบบมีมาตรฐานเดียวกัน โดยให้บริการตามกลุ่มอายุ เพศความเสี่ยงอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรแบ่งแยกระบบ และควรใช้ฐานทางวิชาการที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ใช้งบประมาณหรือคิดค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกัน ซึ่งปัจจุบันยังขาดหน่วยงานกลางที่ดูภาพรวมตรงนี้ ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชาชนที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ได้ขอรับบริการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมจากสถานพยาบาลต่างๆในปี 2552 จำนวน 821,319คน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,510 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1,839 บาทต่อคน และในปี 2554 จำนวน 545,017 คน คิดเป็นค่าใช้จ่าย 2,263 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 4,153 บาทต่อคน และเป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2554 มีจำนวนประชาชนที่เข้าร่วมตรวจสุขภาพลดลงร้อยละ 33.64 แต่กลับมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้น กว่าร้อยละ 125 ดังนั้น ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 ภายใต้แนวคิด “สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน” จึงมีการบรรจุระเบียบวาระ”นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน”ไว้ในการประชุมด้วย เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปสู่การยกระดับความรู้ทางวิชาการมีองค์กรกำกับดูแลเรื่องการตรวจสุขภาพเชื่อมโยงกับนโยบายและภาคปฏิบัติได้

“ที่ผ่านมาการตรวจสุขภาพยังไม่มีมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้ามีคณะทำงานระดับชาติที่สามารถออกกฎระเบียบมาได้ หรือประชาสัมพันธ์ให้ประให้ประชาชนรู้เท่าทันจะเป็นประโยชน์มาก และควรมีองค์กรที่ดำเนินการต่อเนื่อง กว้างขวางควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์อย่างน้อยถ้าเรามีแนวทางมาตรฐานในการตรวจสุขภาพ หรือข้อควรระวังอะไรบ้าง หรือสิทธิใน 3 กองทุนมีอะไรบ้าง จัดทำเป็นหนังสือหรือคู่มือออกมาประชาชนจะทราบว่า อะไรคือการตรวจสุขภาพที่จำเป็น อะไรคือเกินความจำเป็น”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 27 พ.ย.56

บทความที่เกี่ยวข้อง

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand