เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 57 นายแพทย์พิบูล อิสสระพันธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการประชุมวิชาการ “สร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” ว่า จากพฤติกรรมการบริโภคผักที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ ทำให้มีตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉลี่ย 1 ในแสนคนของประชากรที่มีความเสี่ยง และสารที่ทำให้มีผู้ป่วยมากที่สุด คือสารออร์แกโนฟอสเฟท (Organophosphate) และคาร์บาเมต (Carbmate) ซึ่งอยู่ในประเภทกำจัดวัชพืชและเชื้อรา โดยจากการสำรวจพบว่า คนมีฐานะ มีสารพิษปนเปื้อนในเลือดอยู่ที่ร้อยละ 32 มากกว่าเกษตรกรผู้ที่ใช้สารเคมีโดยตรง ที่มีการปนเปื้อนเพียงแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น สาเหตุอาจเกิดจากความไม่รู้ในการบริโภคผัก ขณะที่เกษตรกรมีการป้องกันขณะใช้สารเคมีมากขึ้น
จากการสรุปสถานการณ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย พบว่า มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น มียอดนำเข้าสารเคมีสูงถึง 9 เท่า ในปี 2555 มีการนำเข้ากว่า 7 หมื่นตัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทยในกลุ่มสหภาพประเทศยุโรป
ขณะที่นางนภาพร กำภูพงษ์ นักวิชาการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า อย.ได้สุ่มตรวจหาสารพิษผักผลไม้ในปี 2556 พบสารตกค้างจากใบบัวบกมากที่สุด สูงถึงร้อยละ 33 รองลงมา คือ ดอกหอม ข่า ผักกาดขาว และกะหล่ำปลี ตามลำดับ
ด้านเกษตรกรที่เข้าร่วมงาน เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายควบคุมการใช้สารพิษให้ชัดเจน เพื่อให้เกษตรกรรอดพ้นจากการเป็นแหล่งทดลองสารกำจัดศัตรูพืชของนายทุน
ที่มา : ไทยรัฐ 20 ก.พ.57