คนไทยทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า พอเข้าเดือนหกฝนตกพรำๆ ก็เป็นสัญญาณเข้าสู่หน้าฝนแล้ว แต่อันที่จริง ไม่ใช่ เพราะตามหลักฤดูสมุฏฐานของไทยนั้น ฤดูฝนจะเริ่มต้นในวันเข้าพรรษาอันเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคมโน่นแนะ สังเกตได้จากตอนนี้ องค์พระแก้วมรกตยังทรงเครื่องฤดูร้อนอยู่เลย สำหรับชาวแพทย์แผนไทย ย่อมรู้ดีว่าช่วงนี้เป็นยามปลายคิมหันตฤดู อันเป็นระยะของกำเดาสมุฏฐานที่เป็นเหตุให้ร่างกายคนเรามีความร้อนภายในสูงสุด ก่อนจะเข้าสู่ความเย็นฉ่ำของยามเข้าพรรษา
เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองโคตรร้อนขนาดมิลลิแร็ปเปอร์สาวสุดฮ็อตยังสบถเป็นเพลงแร็ปว่าเมืองไทยมี 3 ฤดู คือ ร้อน ร้อนมาก และร้อนฉิบหาย(ฮา) แต่ภูมิปัญญาขนมหวานไทยที่เธอปล่อยมุกเด็ดหยอดท้ายการแสดงเวทีอินเตอร์ แถมโชว์กินให้ดูจนโด่งดังไปทั่วโลกก็คือ ข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งเป็นของหวานไทยคู่กับเทศกาลหน้าร้อนมาช้านาน คนทั่วไปมักเข้าใจว่าของหวานมันอย่างข้าวเหนียวมะม่วงน่าจะเพิ่มดีกรีความร้อนในให้ร่างกาย จึงไม่เหมาะที่จะบริโภคในหน้าร้อน
แต่ความเข้าใจนี้ผิดถนัด เพราะตามหลักภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านนั้น สมุนไพร พืชผัก ผลไม้พื้นถิ่นเกิดในฤดูใดก็เหมาะแก่สุขภาพของผู้คนในฤดูกาลนั้น เมื่อมะม่วงออกผลในหน้าร้อนก็ย่อมเป็นของดีสำหรับสุขภาพในหน้าร้อนด้วย โดยเฉพาะมะม่วงสุกที่ช่วยดับพิษกำเดา หรือ พิษอันเกิดจากเปลวแห่งวาโย ซึ่งในที่นี้ก็คือ ลมร้อนภายในร่างกายนั่นเอง
เรื่องสรรพคุณแก้โรคลมกำเริบของเนื้อมะม่วงสุกนี้ มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเรื่องการอาพาธของพระภัททากัจจานาเถรีซึ่งก็ คือ พระนางยโสธรา อดีตพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะนั่นเอง เรื่องมีอยู่ว่าหลังพระนางยโสธราบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ทรงอาพาธด้วยโรคลมกำเริบ เข้าใจว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน เมื่อสามเณรราหุลทูลถามพระมารดาว่าควรจะได้ยาอะไรมารักษา คำตอบก็คือ “ดูก่อนพ่อ เมื่อยังครองเรือน แม่ได้เสวยรสมะม่วงที่ปรุงกับน้ำตาลกรวด อาการก็จะสงบ” รสมะม่วงสุกกับน้ำตาลกรวดนั้นเป็นยาที่ออกฤทธิ์ชะงัดนัก เพราะเมื่อภิกษุณีทรงเสวยมะม่วงสุกกับน้ำตาลกรวดที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงขยำปรุงถวายแล้ว ปรากฏว่าโรคลมกำเริบนั้นก็สงบลงทันที
นี่คือสรรพคุณทางยาของมะม่วงสุกที่ซ่อนอยู่ในพระไตรปิฏก แต่บรรพชนคนไทยเป็นนักครีเอทีฟตัวยง ได้ประยุกต์ตำรับมะม่วงสุกขยำน้ำตาลกรวดสมัยพุทธกาล มาเป็นเมนูของหวานข้าวเหนียวมะม่วง(ปรบมือ) ซึ่งนอกจากจะได้สรรพคุณของรสมะม่วงสุก ที่ช่วยแก้โรคลมร้อนหรือฮีตสโตรค(Heat Stroke)แล้ว ยังจะได้คุณค่าทางโภชนาการของข้าวเหนียวเขี้ยวงู ซึ่งเป็นข้าวเหนียวพันธุ์พิเศษที่เชฟทำข้าวเหนียวมูนมืออาชีพเลือกใช้ เพราะมีเม็ดสวยเรียวเหมือนเขี้ยวงู เมื่อนึ่งสุกมูนกับหัวกะทิสดแล้วเนื้อไม่เละ เม็ดไม่ติดกัน ที่สำคัญคือเม็ดข้าวยังสวยขาวขึ้นเงาวาวมันและมีกลิ่นหอมกรุ่นชวนรับประทาน ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองแท้ มีความหอมเฉพาะและมีคุณค่าโภชนาการสูงมากคือ มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ในรูปของวิตามินอีโดดเด่นเป็นพิเศษ ทั้งยังมีสารแกรมม่าออริซานอล(Gramma Oryzanol) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในขบวนการเคมีในร่างกาย (metabolism) ช่วยลดคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับปอด เป็นต้น
สำหรับพันธุ์มะม่วงจับคู่กับข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองนั้นมีให้เลือกตามความร่ำรวยของความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองไทย ที่นิยมก็หนีไม่พ้นน้ำดอกไม้ แต่หลายคนหลงใหลรสมะม่วงสุกอกร่องคู่กับข้าวเหนียวกินแล้วฟินสุด ๆ แต่หลายคนก็ไม่เกี่ยงสายพันยธุ์ใดๆ เรียกว่าขอให้กินข้าวเหนียวมะม่วงก็เปรมปรีดิ์ไปหลายวัน และสรรพคุณยาโบราณก็ไม่เคยเกี่ยงสายพันธุ์ใดๆ ด้วย
ช่วงนี้ยังนับเป็นช่วงหน้าร้อน ไฟธาตุย่อยอาหารจะหย่อน ความอยากอาหารย่อมลดน้อยลง ดื่มแต่น้ำเพื่อดับร้อน ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย กำลังถดถอย แต่เมนูของหวานที่มีความหอมอร่อยชวนรับประทานอย่างข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งมีสรรพคุณดับพิษลมร้อนในร่างกายของมะม่วงและมีคุณค่าโภชนาการของข้าวเหนียวเขี้ยวงูทดแทนอาหารคาวได้จานหนึ่ง จะช่วยให้ร่างกายได้สารอาหารสำคัญอย่างพอเพียงในช่วงที่เบื่ออาหาร
ผลพลอยได้ประการหนึ่งของข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์ ก็คือการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงูของจังหวัดเชียงราย ซึ่งชาวนามักไม่นิยมปลูกเพราะเป็นพันธุ์ข้าวรวงเล็กน้ำหนักเบา จึงต้องขอบคุณน้องมิลลิแร็ปเปอร์ที่ช่วยให้พันธุ์ข้าวพื้นบ้านชั้นดีนี้อยู่คู่กับเมนูข้าวเหนียวมะม่วงตำรับแท้ของไทยต่อไป.