อ่านโพสต์ของเราแปปเดียวก็จะครึ่งปีแล้ว
แอดมินพยายามหาเรื่องราวทั้งสมุนไพร เรื่องการดูแลสุขภาพ หรือ การแพทย์พื้นบ้านมาเล่าสู่กันฟัง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแอดมินไปเชียงรายมาค่ะ มีเรื่องราวน่าสนใจอยากเล่าให้ฟัง…แต่ขอเป็นโพสต์หน้านะคะ
วันนี้จะชวนมารู้จักพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ได้ยินชื่อแล้วหิวเลยล่ะคะ
“ข้าวหลามดง” เป็นชื่อต้นไม้นะคะ ไม่ใช่ ข้าวหลามที่เป็นอาหาร
ที่ จ.ชุมพร จะเรียก จำปีหิน คนปราจีนบุรี เรียกว่า นมงัว จ.เชียงใหม่เรียก ปอขี้แฮด
ชื่อ “ข้าวหลามดง” มาจากกลิ่นของลำต้นหรือกิ่งเมื่อถูกเผาไฟจะมีกลิ่นไหม้คล้าย ๆ กับกลิ่นหอมของกระบอกข้าวหลามที่เผาสุกใหม่ ๆ
ส่วนคำว่า “ดง” นั้นสื่อถึงว่า เป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามดงพงป่า หรือใส่คำว่า “ดง” ต่อท้ายชื่อเพื่อให้แตกต่างกับต้น “ข้าวหลาม” หรือต้นข้าวหมาก ที่อยู่สกุลเดียวกัน แต่ขึ้นในพื้นที่สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
ต้นข้าวหลามดง ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกหนาสีเทาอมดำ กลีบดอกยาวสีเหลืองนวลถึงสีชมพู
“ดอกข้าวหลามดง” มีกลิ่นหอมเย็น นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
“ข้าวหลามดง” เป็นสมุนไพรเพียงไม่กี่ชนิดที่หมอยาทุกภาคจะเรียกชื่อและใช้เหมือนๆ กัน ก็คือ เป็นยาบำรุงและยาเพิ่มน้ำนมให้หญิงหลังคลอด
โดยเราใช้ลำต้นข้าวหลามดง นำมาผ่าซีกแล้วต้มให้แม่หลังคลอดที่กำลังอยู่ไฟดื่ม เพื่อรักษามดลูก และเรียกน้ำนม อาจจะใส่สมุนไพรบำรุงน้ำนมตัวอื่นๆ เช่น นมวัว นมสาว นมน้อย นมแมว ลงไปด้วยก็ได้
หมอพื้นบ้านมักจะบอกว่า ข้าวหลามดงดีต่อแม่หลังคลอด
สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน ใช้แก่นข้าวหลามดงเข้าตำรับยารักษาโรคซางในเด็กและช่วยบำรุงกำลังในผู้ใหญ่
ข้าวหลามดงยังเป็นยาบำรุงร่างกายที่ดี ช่วยขับเหงื่อ ขับน้ำลาย เหมาะกับคนเบื่ออาหาร น้ำลายแห้งไม่มีชีวิตชีวา โดยต้มข้าวหลามดงตัวเดียวแล้วดื่ม หรือต้มรวมกับยากำลังตัวอื่นๆ เช่น กำลังช้างเผือก ช้างน้าว โด่ไม่รู้ล้ม เป็นต้น
ใครจะหาต้นข้าวหลามดงมาปลูกไว้ข้างๆ บ้านก็ดีนะคะ เราจะได้กลิ่นหอมจากข้าวหลามดง และยังเป็นไม้ประดับที่มีสรรพคุณทางยาด้วย
#มูลนิธิสุขภาพไทย #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน #ข้าวหลามดง
#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.