วานนี้ (13 พ.ย.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี สาทร มีเดียมอนิเตอร์ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) จัดกิจกรรมนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “เกณฑ์ FAO กับการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในสื่อไทย” และรับฟังความเห็นต่อการจัดทำข้อเสนอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมเริ่มด้วยการนำเสนอสาระสำคัญของการศึกษาและข้อเสนอแนะโดย ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ จากนั้นเป็นการเสวนา นำโดย นายวิฑูรย์ เลื่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท. ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.พาลาภ สิงหเสนี โครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อชุมชนน่าอยู่ นายสมิทธิ์ เย็นสบาย ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค จ.สระแก้ว นายศักดิ์เกษม สุนทรภัทร์ กรมวิชาการเกษตร นางสาวทรงศิริ จุมพล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ เหตุที่มีการศึกษาครั้งนี้เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกลไกในการกำกับดูแลการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยตรง โดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ได้กล่าวถึงการควบคุมโฆษณาวัตถุอันตรายไว้ว่า ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองบริโภคมาปรับใช้ ดังนี้
มาตรา 51
“การควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโฆษณาให้ถือว่าวัตถุอันตรายที่มีการกำหนดฉลากตาม มาตรา 20 (1) เป็นสินค้าที่มีการควบคุมฉลากโดยคณะกรรมการควบคุมฉลากตามกฎหมาย ดังกล่าวโดยอนุโลม”
เห็นได้ว่ากฎหมายมาตรา 51 ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการ กำกับดูแลการโฆษณาวัตถุอันตรายโดยตรง เนื่องจากพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวโยงกับทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักนายกรัฐมนตรี ในทางปฏิบัติการควบคุมการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ จึงตกเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการร้องเรียนต่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อตรวจสอบการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นกรณีๆไป (พัฒนพงส์ จาติเกตุ. 2548. การโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยสื่อมวลชน. รายงานผลการศึกษาสังเคราะห์องค์ความรู้: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) อีกทั้งยังทำให้เกิดช่องว่างในการกำกับดูแลโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอนโยบายการจัดการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ โดยข้อเสนอหนึ่งคือให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุมการโฆษณา และการขายตรงวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างเข้มงวด ทว่าหลักการสำคัญดังกล่าวก็ยังไม่มีการบังคับใช้
จากปัญหาการกำกับดูแลการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชข้างต้น อาจมีส่วนทำให้ผลการศึกษาครั้งนี้ที่ศึกษาการโฆษณาในนิตยสาร/วารสารการเกษตร 5 เล่ม ตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 พบโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรวม 58 ชิ้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติ(Code of Conduct) ในการจำหน่ายและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ซึ่งมีจำนวน 18 ข้อพบว่า โฆษณาทุกชิ้นมีการละเมิดแนวปฏิบัติอย่างน้อย 1 ข้อขึ้นไป โดยส่วนใหญ่คือจำนวน 56 ชิ้นโฆษณาเป็นการละเมิดแนวปฏิบัติ FAO ข้อ 14 ที่ กำหนดให้มีการระบุข้อมูลวิธีการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน และ จำนวน 55 ชิ้นโฆษณา เป็นการละเมิดแนวปฏิบัติ FAO ข้อ 17 ที่กำหนดให้มีการแจ้งให้ผู้บริโภคอ่านฉลากอย่างระมัดระวัง รองลงมาจำนวน 15 ชิ้นโฆษณา เป็นการละเมิดแนวปฏิบัติ FAO ข้อ 8 ด้วยการอวดอ้างสรรพคุณเรื่องความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี มีเดียมอนิเตอร์พบว่า ยังมีการโฆษณาที่ไม่สามารถประเมินได้ในขั้นนี้ จึงต้องวิเคราะห์ว่า “อาจ” เข้าข่ายละเมิดแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะแนวปฏิบัติ FAO ข้อ 1, 2 และ 3 ที่ระบุว่า คำกล่าวอ้างในโฆษณาต้องเป็นความจริง ข้อความต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด และต้องระบุข้อความกำกับสำหรับโฆษณาสารเคมีเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการบางราย รวมถึงแนวปฏิบัติ FAO ข้อ 10 ที่ว่าการโฆษณาต้องไม่มีข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสินค้า เหตุที่พบนี้ อาจเป็นการสะท้อนว่าวัตถุประสงค์ของแนวปฏิบัติว่าด้วยการโฆษณาของ FAO ให้ความสำคัญกับบทบาทหน่วยงาน/นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีในการตรวจสอบรับรองโฆษณา ก่อนอนุญาตให้เผยแพร่ผ่านสื่อ
ทั้งนี้ มีเดียมอนิเตอร์ได้ทำการสุ่มสำรวจโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในรูปแบบภาพยนตร์โฆษณา
โดยการใช้รายชื่อบริษัทที่ผลิตหรือนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบจากการศึกษาครั้งนี้ สืบค้นในเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) เมื่อ 6 มิถุนายน 2556 พบโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 3 ชิ้น จาก 3 บริษัท ได้แก่ 1) โปรเด็ด และม๊อบ-อัพ ทอง (สารกำจัดวัชพืช) โดยบริษัทโปรเจคฟิลด์ จำกัด 2) ออติวา (สารกำจัดและป้องกันโรคพืช ออติวา) โดยบริษัทซินเจนทา 3) พรีวาธอน (สารป้องกันและกำจัดแมลง) โดยบริษัทดูปองท์ พบว่า โฆษณาทั้ง 3 ชิ้นละเมิดแนวปฏิบัติ FAO ข้อ 14 ว่าด้วยการระบุวิธีการใช้ และโฆษณา ชิ้นที่ 1 และ 3 ยังละเมิดแนวปฏิบัติ FAO ข้อ 17 ว่าด้วยการเตือนให้อ่านฉลาก
และจากการสำรวจรายการโทรทัศน์ทางฟรีทีวีที่ออกอากาศระหว่างวันที่ 1-8 สิงหาคม 2556 เฉพาะในรายการที่เกษตรกรมีแนวโน้มเปิดรับชมสื่อโทรทัศน์ ได้แก่ 1) รายการข่าว รายการเกษตร ที่ออกอากาศในช่วงเวลา 4.00-8.00 น. 2) รายการถ่ายทอดสดมวยไทย ของฟรีทีวีทุกช่อง พบโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 2 ชิ้น ได้แก่ เรนโบว์ (สารกำจัดวัชพืช) โดยบริษัท ดาว อะโกรไซแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในรายการมวยศึกอัศวินดำทางช่องโมเดิร์นไนน์ และผลิตภัณฑ์เรดด็อก (สารกำจัดวัชพืช) โดยบริษัท ไทยเฮอร์บิไซด์ จำกัด ในรายการมวยศึกจ้าวมวยไทย ทางช่อง 3 โดยทั้ง 2 ชิ้น ละเมิดแนวปฏิบัติ FAO ข้อ 14 และ 17 และอาจเข้าข่ายละเมิดแนวปฏิบัติ FAO ข้อ 10 ที่ว่าด้วยข้อความที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพสินค้า
มีเดียมอนิเตอร์ จึงได้ตั้งข้อสังเกตบางประการต่อกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทย เช่น ไม่มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบกำกับดูแลการโฆษณาสารเคมีทางการเกษตร ทำให้ขาดการตรวจสอบว่าคำกล่าวอ้างในโฆษณานั้นๆ ว่าเชื่อถือได้หรือไม่ รวมทั้ง ทำให้ไม่มีประกาศ/ระเบียบ ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
ผลการศึกษาครั้งนี้ จึงตามมาด้วยข้อเสนอสำคัญ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 (คณะกรรมการวัตถุอันตราย) และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 (คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ควรพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติ หรือจัดทำประกาศในรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของ FAO ดังเช่น กรณีประเทศมาเลเซียที่มีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Pesticides (Advertisement) Regulation 1996) โดยใช้แนวทางปฏิบัติของ FAO เป็นกรอบอ้างอิง
ทั้งนี้ ข้อเสนอให้มีแนวทางปฏิบัติ หรือ ประกาศ เพื่อควบคุมการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของ FAO เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบังคับใช้หรือเพื่อการอ้างอิงสำหรับ:
– หน่วยงานภาครัฐ กับ องค์กรวิชาชีพด้านสื่อ ด้านโฆษณา และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเคร่งครัดร่วมกัน สำหรับสื่อประเภทต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ ฯลฯ
– หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเกษตรกร การพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อ สามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดทำคู่มือ หรือการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนผู้รับสื่อมีความรู้เท่าทันการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและติดตามเฝ้าระวังการดำเนินการตามแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร และผู้บริโภค
สุดท้าย มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จากการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตของมีเดียมอนิเตอร์พบเพียงเกณฑ์ ของ FAO ว่าด้วยแนวปฏิบัติการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ไม่พบแนวปฏิบัติการโฆษณาสารเคมีทางการเกษตรประเภทปุ๋ย ในขณะที่สารชีวภาพกำจัดแมลง รวมทั้งปุ๋ยอินทรีย์ ก็อาจมีปัญหาการโฆษณาที่หลอกลวง เกินจริง และละเลยการให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีการใช้ เช่นกัน
เพื่อให้ข้อเสนอแนะข้างต้น มีความถูกต้อง ครบถ้วน มีเดียมอนิเตอร์จึงจัดเสวนารับฟังความคิดเห็นจากคณะผู้นำการเสวนา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายศักดิ์เกษม สุนทรภัทร์ จากกรมวิชาการเกษตร ได้ระบุว่า แม้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จะกล่าวถึงแนวทางการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่ไม่มีมาตราใดที่ระบุถึงบทลงโทษโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับ นางสาวทรงศิริ จุมพล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา ที่ระบุว่ากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคที่ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายอ้างถึงนั้น เป็นหลักเกณฑ์การกำกับโฆษณาสินค้า/บริการทั่วไป ซึ่งในเชิงปฏิบัติแล้วไม่สามารถปรับใช้กับการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และวัตถุอันตรายประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะเฉพาะได้ จึงทำให้เกิดปัญหาในการตีความและการนำไปใช้ปฏิบัติ
ในขณะที่ ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท. ชัยสัมฤทธิโชค ระบุว่า ในกรณีโฆษณาอาหารและยานั้น กฎหมายได้บังคับให้ผู้โฆษณาต้องขออนุญาตกับทางเจ้าหน้าที่ก่อนมีการเผยแพร่ แต่สำหรับโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่มีกฎหมายบังคับในลักษณะนี้ และยังไม่มีหน่วยงาน/ เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายในการควบคุมดูแลการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประเด็นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปใช้ในการขับเคลื่อนทางสังคม และทางนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อไปได้ในอนาคต
หมายเหตุ
แนวปฏิบัติ(Code of Conduct) ในการจำหน่ายและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ดูที่ http://mediamonitor.in.th/annex-1-international-code-conduct-distribution-use-pesticides-article-11-advertising/
ที่มา : ประชาไทออนไลน์ 14 พ.ย.56