ถ้าว่ากันตามหลักอุตุสมุฏฐานของศาสตร์การแพทย์แผนไทย ท่านให้นับวันลอยกระทงเป็นหมุดหมายแห่งการสิ้นสุดวสันตฤดู กล่าวคือ เมื่อลอยกระทงในคงคาวันเพ็ญเดือน 12 แล้ว วันรุ่งขึ้นจะมีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงชุดฤดูหนาวถวายพระแก้วมรกต ให้ถือว่าเป็นวันแรกแห่งเหมันตฤดู ที่หลายๆ คนตั้งตาคอย ขึ้นดอยชมเดือนนับดาวท่ามกลางลมหนาว ซึ่งจะยาวไปอีก 120 วัน
คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยกล่าวไว้ชัดเจนว่า โรคภัยไข้เจ็บในช่วงฤดูหนาว เป็นโรคที่เกิดจากเสมหะกำเริบ และยังวิสัชนาลงลึกอีกว่า เหมันต์สมุฏฐาน แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ๆ ละ 40 วัน คือ (1)ช่วงต้นฤดูหรือช่วงไข้หัวลม เกิดศอเสมหะหรือหวัดลงคอ (2)ช่วงกลางฤดู เกิดอุระเสมหะ หรือหวัดลงปอด และ(3)ช่วง ปลายฤดู เกิดคูธเสมหะหรือหวัดลงท้อง ทำให้ท้องเสียหรือท้องร่วงในช่วงปลายหนาวเข้าฤดูร้อน
ดังนั้นช่วงต้นฤดูปลายฝนต้นหนาว จึงต้องระวังเรื่องหวัดลงคอ มีอาการระคายคอ ไอ เจ็บคอ กระทั่งมีเสมหะเรื้อรังในลำคอ ซึ่งสมุนไพรฟ้าทะลายโจรสามารถช่วยแก้เจ็บคอได้ดี และจิบน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งเพื่อระงับศอเสมหะ ท่านว่ารสเปรี้ยวเจือธาตุไฟเล็กน้อยมีฤทธิ์อุ่นช่วยกัดเสมหะได้ดี หมอไทยไม่นิยมให้ใช้ยารสเผ็ดร้อนแก้เสมหะในฤดูหนาวเพราะฤทธิ์ยาเผ็ดร้อนอาจทำให้ระคายเคืองเยื่อบุในลำคอและทางเดินอาหารได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือช่วงกลางหน้าหนาวก่อนสิ้นปีนี้ ที่จะเกิดภาวะหวัดลงปอด ในขณะเดียวกันก็เอื้อให้เชื้อหวัดโควิดลงปอดได้ง่ายขึ้นและรุนแรงมากขึ้นด้วย ดังนั้นความแข็งแรงของปอดจึงมีความสำคัญในการต้านเชื้อหวัดไม่ให้ทำลายปอด สมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรที่ตอบโจทย์นี้ได้ หาง่าย ราคาถูกอย่างคาดไม่ถึง ก็คือ ขมิ้นชันนั่นเอง
ขมิ้นชัน มีสรรพคุณมากกว่า แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และโรคกระเพาะเท่านั้น ดังในคัมภีร์สรรพคุณระบุว่า “ขมิ้นชัน นั้น แก้ไข้อันบังเกิดแต่ดี ชำระโรคอันบังเกิดตามผิวหนัง ระงับเตโชธาตุให้ดับ แก้เสมหะทำให้ฟกบวม แลแก้บาดแผล” จากสรรพคุณตามคัมภีร์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ขมิ้นชันใช้ลดไข้ สมานแผลทั้งภายนอกและภายใน เช่น แผลในกระเพาะ ลำไส้ได้ ที่สำคัญคือสรรพคุณแก้เสมหะ แก้ฟกบวม ตามคัมภีร์โบราณซึ่งยืนยันด้วยงานศึกษาวิจัยว่า ขมิ้นชัน ใช้รักษาโรคหอบหืด และอาการอักเสบข้อเข่าเสื่อมได้ผลดี
ในที่นี้ ขอกล่าวเฉพาะ งานวิจัยขมิ้นชันรักษาผู้ป่วยโรคหอบหืด เริ่มจากการศึกษาพบว่าสารเคอร์คิวมิน (curcumin) จากขมิ้นชัน (ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa Linn.) มีฤทธิ์ต้านหอบหืดในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคหอบหืด โดยฉีดสารเคอร์คิวมินเข้าทางช่องท้องของหนูทดลอง ขนาด 20-200 มก./กก.น้ำหนักตัว วันละครั้ง นาน 21 วัน พบว่าช่วยลดการหดเกร็งและการอักเสบของกล้ามเนื้อหลอดลม รวมทั้งเซลล์เยื่อบุถุงลมปอด ที่สำคัญคือช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามีน (histamine : สารที่ทำให้เกิดอาการแพ้) ซึ่งช่วยบรรเทาอาการแพ้ ลดความหนาของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบที่หลอดลมและเยื่อบุหลอดลม ที่ทำให้หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก และยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้เกิดสารไนตริกออกไซด์ทำลายปอด ช่วยให้หนูทดลองหายจากโรคหอบหืดภายใน 21 วัน
จากนั้นจึงศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยโรคหอบหืด 63 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่รับประทานสมุนไพร และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก กลุ่มแรกให้สารเคอร์คิวมิน 15 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์(28 วัน ) พบว่าในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขมิ้นชัน มีหลอดเลือดขยายตัว และสารพิษไนตริกออกไซด์ในปอดลดน้อยลง ส่งผลให้ลดอาการบวมของหลอดลม และเมื่อตรวจสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยหอบหืดโดยใช้เครื่องสไปโรเมตรี (Spirometry) ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจวัดปริมาตรของอากาศขณะหายใจเข้า-ออกจากปอด พบว่าสมรรถภาพปอดของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขมิ้นชันดีขึ้นมากกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีรายงานผลการทดลองเบื้องต้นที่ใช้สารเคอร์คิวมินกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในเซลล์ตับ ที่ช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัวอีกด้วย
ลองมาคำนวณขนาดการใช้ผงขมิ้นชันในการรักษาโรคหอบหืด หลอดลมตีบ และเสริมสมรรถภาพปอดให้แข็งแรง ผงขมิ้นชันคุณภาพดี 1 กรัม จะมีสารเคอร์คิวมินราว 8-9 มิลลิกรัม ดังนั้นหากรับประทานขมิ้นชันแคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม ราวครั้งละ 3- 4 แคปซูล 3 เวลา ก่อนหรือหลังอาหาร ลองกินดูสัก 4 สัปดาห์
เท่านี้ก็เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือภูมิแพ้หายใจได้เต็มปอด สามารถใช้ชีวิตรื่นรมย์กับเหมันต์ฤดู สู้ภัยโควิดและฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่อาจจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้.