ก้าวที่กล้าของวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน

เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา หลายภูมิภาคในโลกต้องประสบกับวิกฤติด้านอาหาร อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเกินจะคาดคิด ภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด อากาศแปรปรวน ล้วนส่งผลต่อการผลิตอาหารทั้งระบบใหญ่และระบบย่อย ขณะที่การผลิตลดน้อยลงเพราะภัยธรรมชาติ แต่ความต้องการกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าว” อาหารหลักของมนุษย์ส่วนใหญ่

ทราบกันดีว่า ข้าวเกือบจะทั้งหมดที่คนบริโภค เป็นข้าวที่ผลิตในระบบเคมีเป็นหลัก ส่วนแนวคิด “เกษตรอินทรีย์” นั้น เป็นกระแสที่เกิดขึ้นเพื่อทบทวนและต้านทานกระแสเกษตรเคมี ซึ่งได้ช่วยฟื้นฟูวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมให้กลับมา แม้ปริมาณจะไม่อาจเทียบได้กับข้าวที่ผลิตในระบบเคมี แต่การดำเนินไปโดยมุ่งขยายในเชิงคุณภาพอย่างช้าๆ ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ก็ได้สร้างทางเลือกให้แก่อนาคตด้านอาหารของสังคมมนุษย์

ที่จังหวัดยโสธร ชาวนากลุ่มเล็กๆ ในตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม ได้เข้าร่วมในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์มานานกว่ายี่สิบปี และร่วมกันทำในสิ่งที่พวกเขาเล็งเห็นว่า สิ่งนี้ต่างหากคือหนทางรอดของชาวนา สิ่งนี้ต่างหากคือวิถีที่การเกษตรควรจะเป็น

ดาวเรือง พืชผล ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร กล่าวว่า การทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ได้ดำเนินการมากว่ายี่สิบปีแล้ว งานหลักที่ดำเนินการมาตลอดคือ การขยายพื้นที่ กับการขยายแนวคิด เรื่องรองคือ การจัดการผลผลิตและการขยายตลาด ส่วนเรื่องที่ทางกลุ่มถือว่าเป็นหัวใจของการทำเกษตรยั่งยืนและกำลังดำเนินการ คือ เรื่องของการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้าน “เรื่องเกษตรยั่งยืนมันเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน แต่พอทำไปทำมาก็มีการสรุปว่า ถ้าเกษตรกรจะทำเกษตรยั่งยืนได้จะพึ่งตัวเองได้ ถ้าไม่มีพันธุกรรมของตนเองมันจะใช่หรือไม่ คือคุณจะทำเกษตรอินทรีย์ จะทำเกษตรผสมผสาน แต่เอาพันธุ์มาจากข้างนอก ซื้อเขามา มันจะยั่งยืนมั้ย ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในเครือข่ายเมื่อสิบกว่าปีก่อน”

ดาวเรืองเล่าว่า ในช่วงนั้นเริ่มมีกระแสที่ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นเมืองอยู่ 2-3 เรื่อง คือ หนึ่ง เรื่องความปลอดภัยของพืชตัดต่อพันธุกรรม หรือพืช GMOs สอง กรณีการจดสิทธิบัตรชื่อ “ข้าวหอมมะลิ” โดยบริษัทต่างชาติ และสาม การที่ธุรกิจการเกษตรที่ค้าเมล็ดพันธุ์ ได้ขยายตัวกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพันธุกรรมพื้นเมือง ทางกลุ่มจึงได้เริ่มต้นรวบรวมพันธุ์ข้าวที่เคยปลูกในพื้นที่ ประกอบกับในช่วงปี 2550-2551 ได้มีการสนับสนุนจาก สกว.ให้ทำการวิจัยในท้องถิ่น จึงได้มีการดำเนินการค้นคว้าในเรื่องพันธุ์ข้าวพื้นเมือง จนกระทั่งได้ทราบว่า ในอดีตชุมชนแถบนี้เคยมีการปลูกข้าวพื้นเมืองถึง 62 สายพันธุ์ และยังมีการศึกษาลงลึกว่า แต่ละท้องถิ่นปลูกข้าวแตกต่างกันออกไป ซึ่งความแตกต่างนี้มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับระบบนิเวศ

พร้อมๆไปกับการรวบรวมพันธุ์ข้าว ทางกลุ่มได้เริ่มดำเนินการพัฒนาพันธุ์โดยทดลองปลูกในพื้นที่ที่ได้รับบริจาคจำนวน 2 แปลง ซึ่งรายละเอียดในการดำเนินการนั้น มีความซับซ้อน ต้องใช้เวลา และความอดทนมาก เนื่องจากต้องขยายพันธุ์ทีละรวง และทำการตรวจสอบเป็นเวลานานสามปี จึงจะมั่นใจว่าเป็นพันธุ์แท้ นอกจากนี้ ยังต้องดูศักยภาพของแต่ละพันธุ์ โดยการนำมาปลูกในพื้นที่เดียวกันเพื่อดูว่า พันธุ์ไหนจะให้ผลผลิตสูงที่สุด หากได้ผลชัดเจน ก็นำไปขยายพันธุ์ต่อไปได้ ซึ่งตอนนี้บางตัวก็เริ่มได้รับความนิยมในพื้นที่ เช่น ข้าวเหนียวแดง ซึ่งให้ผลผลิตสูงและเมล็ดอ่อนนิ่ม

ดาวเรืองกล่าวว่า จนถึงตอนนี้ ตลาดของข้าวพันธุ์พื้นเมืองก็ยังคงแคบมาก ส่วนหนึ่งเพราะความเชื่อมั่นของชาวนาที่เคยชินกับการปลูกข้าวมะลิ และข้าวพันธุ์ กข. และอีกส่วนหนึ่งคือ กรอบข้อกำหนดของกรมส่งเสริมการเกษตรไม่สนับสนุนการผลิตของชาวนารายย่อย แนวคิดล่าสุดของทางกลุ่มจึงต้องการสร้าง “ศูนย์ผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน” เพื่อผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนจำหน่ายให้แก่ชาวนา ทั้งเพื่อให้พันธุ์พื้นเมืองยังดำรงอยู่ต่อไป ทั้งเพื่อร่วมแก้ปัญหาพันธุ์ข้าวปลูกขาดแคลน “การขยายตลาดเรื่องข้าวพื้นเมืองก็ยังเป็นเรื่องยาก เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ตอนนี้เรากำลังขยับไปเป็นศูนย์ผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน คือ เราจะทำพันธุ์เพื่อจำหน่าย เมล็ดพันธุ์ข้าวทุกวันนี้มันไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางกรมส่งเสริมฯ เองก็ยังผลิตได้ไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาเราก็ทำ แล้วก็ส่งขายพันธุ์ที่เขาปลูกทั่วไปคือ ข้าวมะลิ ข้าว กข.6 แต่ถ้าทำแบบนี้ต่อไปมันก็จะมีปัญหาตามกฎหมาย เราจึงต้องมาทำเรื่องศูนย์ผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนเพื่อให้มีการรับรองที่ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดนี้เราผลิตในระบบอินทรีย์ทั้งหมด เราปฏิเสธสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ต้องเตรียมการต่อไปคือ เรื่องมาตรฐานในการประเมินข้าวพื้นเมืองแต่ละพันธุ์ของกรมการข้าว แล้วก็เรื่องการจัดการทางธุรกิจที่มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน”

ดาวเรืองมองว่า สถานการณ์ปัจจุบัน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปมาก เขาสังเกตว่า ในพื้นที่เองก็มีฝนตกน้อยลงสามปีติดต่อกันมาแล้ว ทั้งยังเลื่อนไปจนเกือบสิ้นสุดฤดูกาลทำนา ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไป ข้าวพันธุ์ที่ปลูกกันอยู่ คือ กข.6 หรือ ข้าวมะลิ ซึ่งมีช่วงอายุเดียว จะเหมาะสมหรือไม่ หากน้ำน้อยหรือมากไป ผลผลิตย่อมไม่ได้เท่าที่ควร ฉะนั้น จึงควรจะมีความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเพื่อเป็นทางเลือกในการผลิต เช่น ข้าวเบาอาจจะเหมาะกับการที่ฝนตกเป็นระยะสั้นๆ มากกว่า หรือ ข้าวไร่อาจจะเหมาะกับพื้นที่น้ำน้อยมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การเก็บพันธุ์ข้าวไว้เพื่อปลูกเอง หรือที่เรียกกันว่า “ข้าวปลูก” เป็นปัญหาสำคัญที่ดาวเรืองเห็นว่า น่าเป็นห่วงมาก เพราะทุกวันนี้ ชาวนาเก็บข้าวปลูกกันน้อยลง และซื้อมากขึ้น วิถีการผลิตที่เปลี่ยนไปนี้กำลังจะทำให้ชาวนาสูญสิ้นศักดิ์ศรีและอิสรภาพของตัวเอง “ชาวนาควรจะฟื้นการเก็บพันธุ์ข้าวไว้ปลูกเอง ชาวนาจึงจะมีศักยภาพในการผลิตพันธุ์ข้าว ถือว่าเป็นหัวใจของชาวนานะ ถ้าชาวนาไม่รักษาพันธุ์ข้าวไว้ปลูกเอง ต้องไปซื้อเขามาปลูก ชาวนาก็สูญสิ้นศักดิ์ศรี ไม่มีที่เหยียบที่ยืนแล้ว เพราะถ้าหากเขาไม่ขายให้เราล่ะ เราจะทำยังไง หรือถ้าเขาบอกว่า ถ้าไม่ได้ราคานี้เขาไม่ขายล่ะ ชาวนาจะทำยังไง ถ้ามันเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้นมา ชาวนารายย่อยก็จะค่อยๆ หมดไป เหลือแต่ชาวนารายใหญ่ที่ลงทุนทำนาเยอะๆ ได้ข้าวเยอะๆ เพื่อส่งขาย ใช่หรือไม่” ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ทิ้งคำถามที่น่าคิดไว้

ด้วยความกล้าหาญและมุ่งมั่นในสิ่งที่พวกเขาศรัทธา การดำเนินงานของกลุ่มชาวนาบ้านกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร กำลังจะกลายเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่น โดยการเป็นแหล่งเรียนรู้ในโครงการ “ขับเคลื่อนจังหวัดยโสธรสู่จังหวัดน่าอยู่ที่สุด” ด้วยการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

แม้จะเป็นเพียงเสียงที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ยิน แต่ชาวนากลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ ยังยืนหยัดที่จะสร้างทางเลือกและทางรอดให้แก่การปลูกข้าวของสังคมไทย

ที่มา : ไทยโพสต์ออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

วิกฤติสมุนไพรไทย นักวิชาการจี้รวมฐานข้อมูลเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาอย่างยั่งยืน

admin 6 เมษายน 2019

เมื่อบ่ายวันที่ 24 มิถุนายน ที่อิมแพคเมืองทองธานี ฮอลล์ […]

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand