ภูมิปัญญาด้านการปลูกพืชท้องถิ่นที่ศึกษาไว้เพื่อมุ่งหวังในการส่งเสริมให้ชาวบ้านและผู้สนใจทั่วไป นำเอาภูมิปัญญาและเทคนิคการปลูกพืชท้องถิ่นไปช่วยกันขยายพันธุ์พืชให้กว้างขวาง ซึ่งเป็นการฟื้นฟูป่าธรรมชาติและพืชสมุนไพรที่กำลังลดจำนวนลงอย่างมาก ความรู้ในหนังสือเล่มนี้เกิดจากการทำงานอย่างยาวนานในพื้นที่บ้านเชียงเหียน ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเคยเป็นชุมชนเก็บยาตัดสมุนไพรขายจนทำให้สมุนไพรแทบหมดจากป่า ต่อมานักวิชาการจากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้ามาทำงานร่วมกับกลุ่มชาวบ้านทำการสำรวจป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ พบว่าพืชสมุนไพรที่เคยใช้จำนวน 160 ชนิด แต่มีถึง 75 ชนิดได้สูญหายไป และอีกหลายชนิดหลงเหลืออยู่จำนวนน้อยมากๆ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเริ่มตระหนัก จึงริเริ่มดำเนินการฟื้นฟู อนุรักษ์และปลูกพืชสมุนไพรทดแทนในชุมชน
ชื่อท้องถิ่น ก้นคก ก้นครก สะคกก๊ก สะรกคก ลกคก เต่าลี่ เต่าลี้ เตารีด
ชื่อสามัญ กล้วยเต่า มลเหลือง
ชื่ออื่นๆ สกคก ปกคก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia sp.
ชื่อวงศ์ ANNONACEAE
ลักษณะทั่วไป
ไม้พุ่ม สูงประมาณ 0.50 เมตร กิ่งก้านจะมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบเดี่ยว รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ยาว 5-10 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร ดอกเดี่ยวขนาดเล็กสีเหลืองอมเขียว ออกตามซอกใบ ผลกลม ผลรูปทรงกลมหรือทรงกระบอก สีเหลือง มีขนละเอียดสีเหลืองอ่อน
อายุการเก็บเกี่ยว
ราก เมื่อเจริญเติบโตอายุ 5 ปีขึ้นไป นำรากมาทำยา
ผล เมื่อเจริญเติบโตอายุประมาณ 6 ปีขึ้นไป จึงจะออกดอกออกผลได้
การใช้ประโยชน์
ผลรับประทานได้ รากเป็นสมุนไพร ให้รสเย็น แก้ตัวร้อนดับพิษไข้ทั้งปวง ดับพิษ ตานซาง แก้วัณโรค ต้มดื่มแก้ปวดท้อง
การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ขั้นตอนการขยายพันธุ์
ผลก้นครกเมื่อสุกเต็มที่จะมีรูปทรงกลมหรืออทรงกระบอก ผลสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกหุ้มเมล็ดจะนิ่ม ผลจัดเป็นผลรวมมีเมล็ดประมาณ 10 – 14 เมล็ดต่อผล เมล็ดมลักษณะแบนๆ เปลือกหุ้มเมล็ดจะแข็ง เมื่อผลสุกและแก่เต็มที่ ให้เก็บมารวบรวมใส่ถุงปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 วัน ผลจะเน่าให้เลือกเก็บเฉพาะส่วนที่เป็นเมลด็เท่านั้น นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
วิธีเพาะด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านให้นำเอาเมล็ดก้นครกห่อใส่ผ้า รดน้ำให้ชุ่มปล่อยทิ้งไว้ 2- 3 วันเมล็ดกจะเริ่มงอก ให้นำเอาเมล็ดไปหยอดใส่ถุงเพาะชำประมาณ 3-5 วันเมล็ดกจะเริ่มงอก ดูแลรดน้ำประมาณ 6 เดือนก็สามารถนำไปปลูกได้
สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ 2537
สงวนลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ ถ่ายสำเนา หรือคัดลอกข้อความ หรือรูปที่ปรากฏในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดในเอกสารนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมูลนิธิสุขภาพไทย เป็นลายลักษณ์อักษร
ที่มา : หนังสือปลูกไม้ท้องถิ่น ฟื้นป่า สร้างคลังยาให้ชุมชน เล่ม 2
จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสุขภาพไทย