กาแฟ ชุมเห็ดไทย

ยอมรับกันว่าทุกซอกทุกมุมของทุกเมืองในประเทศไทยตอนนี้มีร้านกาแฟมากมายนับไม่ถ้วน ถ้าสังเกตกันดี ๆ ก็มีทั้งร้านเปิดใหม่และที่ปิดกิจการ เห็นแต่ยี่ห้อใหญ่ ๆ รุกหนักเปิดขายจากนอกห้างตอนนี้เข้ามาชิงพื้นที่ในห้างด้วย ถ้านับกันจริง ๆ ก็ถือว่ากาแฟเป็นพืชสมุนไพร มีสรรพคุณบรรเทาหรือใช้ประโยชน์ได้ เช่น ช่วยขับปัสสาวะ และคาเฟอีนในกาแฟก็ช่วยให้สดชื่น แก้อาการง่วงได้

วันนี้จะชวนมาชิมกาแฟชุมเห็ดไทย ซึ่งเป็นความรู้มาจากคนทวีปอเมริกานะจะบอกให้ แต่ก่อนจะชงชิม อยากให้รู้จัก ชุมเห็ดไทย แต่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ สามารถขึ้นกระจายทั่วไป แล้วนับเป็นวัชพืชในเขตร้อนชื้น เพราะถ้าไม่รู้จักการใช้ประโยชน์ต้นชุมเห็ดไทยก็แพร่ไปมากมายได้ทั่วทุกภาค แต่ก็เป็นที่น่าฉงนว่าทำไมจึงมีชื่อไทยว่าชุมเห็ดไทย ทั้ง ๆ ที่ชุมเห็ดไทยมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Foetid cassia และ Sickle senna มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Senna tora (L.) Roxb. โดยมีชื่อ Cassia tora L. เป็นชื่อพ้อง ที่ต้องกล่าวถึงชื่อพ้องเพราะว่าเดิมใช้ชื่อ Cassia tora L.มาเป็นเวลานาน แต่นักอนุกรมวิธานได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น Senna tora (L.) Roxb.เมื่อไม่นานมานี้เอง จึงต้องกล่าวไว้ไม่ให้สับสน

ชุมเห็ดไทยเป็นพืชในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE) ชุมเห็ดไทยยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พรมดาน พราดาน (สุโขทัย), หญ้าลึกลืน หญ้าลักลืน (ปราจีนบุรี) เล็นเค็ด (มหาสารคาม) เล็บหมื่นน้อย ลับมืนน้อย เล็บมื่นน้อย (ภาคเหนือ) ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดเขาควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก เล็บมื่นน้อย เล็บมื้น (ภาคกลาง) กิเกีย หน่อปะหน่าเหน่อ หน่อปะหน่ำเหน่อ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ก๊วกเม้ง เอียฮวยแซ (จีน) เจี๋ยหมิงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น

ชุมเห็ดไทยเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี สูงประมาณ 1เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาลแดง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนอ่อนปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยมักพบขึ้นเองตามริมคลอง ตามที่รกร้าง หรือตามริมทางทั่วไป ใบชุมเห็ดไทยเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 คู่ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่จะทำให้เราจำพืชชนิดนี้ได้ดี คือ ตรงกลางใบย่อยที่ติดเชื่อมกันนั้นจะพบว่ามีตุ่มตารองน้ำ 1 คู่ และลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งหนาม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย ใบมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ก้านใบมีร่องลึก ไม่มีขน มีหูใบแบบเข็มแหลมสีเขียว 2 อัน

ดอกชุมเห็ดไทยจะออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 2-4 ดอก ดอกเป็นสีเหลืองสดสวยงามดีและมีกลีบดอก 5 ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียวอีก 5 กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน และผลชุมเห็ดไทยจะออกผลเป็นฝักยาวโค้งเล็กน้อย ฝักแบนทั้งสองด้าน ปกคลุมไปด้วยขนอ่อนนุ่มสั้น ๆ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 20-30 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเขียวอมเทา ผิวเมล็ดเรียบ เงาเป็นมัน เมล็ดมีลักษณะแข็งและแบน หน้าตัดเฉียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มองเห็นเหมือนเป็นจะงอยอีกด้านหนึ่งของเมล็ด

บรรยายลักษณะเมล็ดให้ชัดเพราะเมล็ดนี่แหละที่มีดี แต่ขอพูดถึงประโยชน์จากใบก่อน ใบอ่อนกินเป็นผักได้ ในศรีลังกาใช้ดอกเป็นอาหารได้ด้วย และมีการ ใช้เป็นยาควบคุมแมลงในฟาร์มแบบออร์แกนนิค และมีการใช้ชุมเห็ดไทยทั้งต้นนำมาบดให้เป็นผงใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ด้วย ที่ประเทศเกาหลีเชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่กินแล้วจะทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวยกลับไปเป็นหนุ่มสาวได้อีก

ในส่วนความรู้ของไทย ใบ แก้อาการนอนไม่หลับ เมล็ดมีรสขมหวานชุ่ม เป็นยาเย็น โดยออกฤทธิ์ต่อตับและไต ช่วยทำให้เลือดเย็น ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย นำมาคั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงประสาท ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ทำให้ง่วงนอน แก้อาการนอนไม่หลับ เมล็ดชุมเห็ดไทยนำมาคั่วให้เกรียมคล้ายเมล็ดกาแฟ แล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม จะให้รสหอมชุ่มชื่นใจดี ไม่ทำให้หัวใจสั่น แต่ช่วยแก้กระษัย และแก้เด็กเป็นตานขโมยก็ได้ให้ใช้เมล็ดแห้ง 10 กรัม ตับไก่ 1 คู่ นำมาบดผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นก้อนนำมานึ่งให้สุกและใช้กิน หรือเมล็ดคั่วให้เกรียม นำมาบดให้เป็นผงชงน้ำดื่มเป็นยาลดความดันได้ชั่วคราว รักษาอาการตาบวมแดง ฝ้ามัว ตาฟาง ดอก ปรุงเป็นยาแก้ไข้ ขับพยาธิในท้องเด็ก กินเป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ไอ แก้เสมหะ แก้หืด ผล ใช้แก้ฟกบวม

ในต่างประเทศใช้ทั้งต้นเป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง แก้คัน แก้โรคเรื้อน แก้โรคสะเก็ดเงินหรือแม้แต่แก้พิษงู ใบนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของบาล์มหรือยาหม่อง และใช้ทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง ซึ่งใช้กันมากในตำรับยาของจีนและอายุรเวท นอกจากนี้ในชุมเห็ดไทยมีสารสำคัญคือ แอนทราควินโนน (anthraquinone) เป็นสารที่นำมาใช้ประโยชน์เป็นยาระบาย และมีการนำเอาสารที่ทำให้เกิดเจล (gelling agent) ที่สกัดได้จากเมล็ดมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย

สำหรับเมล็ดชุมเห็ดไทยมีรสชาติขมเมา มีกลิ่นเฉพาะตัว หอมเล็กน้อย เมล็ดนำมาคั่วชงเป็นกาแฟ คนพื้นเมืองในอเมริกาใต้นำเมล็ดไปคั่ว นำมาชงดื่ม มีกลิ่นหอมเหมือนกาแฟ กลิ่นธรรมชาติไม่มีการแต่งเติมสีและกลิ่นใด ๆ จึงมีความน่าสนใจทีเดียว ในสังคมที่นิยมดื่มกาแฟกันมากขึ้น กาแฟจากเมล็ดชุมเห็ดไทยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี สามารถปรุงแต่งสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ลองชิมกันดูนะ.

บทความที่เกี่ยวข้อง

เตือนผู้บริโภคดื่มกาแฟลดน้ำหนักเสื่ยงอันตราย!!

admin 2 เมษายน 2019

ศูนย์ทดสอบนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เตือนผู […]

เมล็ดมะขามต้านมะเร็งชวนคั่วกินแทนกาแฟ!

admin 2 เมษายน 2019

เผยสมุนไพรไทยใช้ประโยชน์มหาศาล ช่วยต้านมะเร็ง ตั้งแต่หญ […]

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand