อย่ามองข้ามการเล่นของลูก แม้จะเป็นเพียงการเล่นสมมุติสวมบทบาทพ่อแม่ ครู ผู้ร้าย หรือแม้แต่หมา แมว นก เพราะสิ่งที่แสดง ออกคือภาษาที่เขาสื่อสาร
เด็กที่ฉุนเฉียวง่าย นอน ผวา ฝันร้ายบ่อย นั่งหงอย ดูคนอื่นทำกิจกรรม ไม่ผูกสัมพันธ์กับใครเป็นพิเศษ คือพฤติกรรมผิดปรกติที่พ่อแม่ต้องสังเกตให้เป็น เพราะหากปล่อยไว้นานอาจยากเกินเยียวยา
ความผิดปรกติที่เกิดกับเด็กย่อมมีที่มาที่ไป หากรู้จุดและแก้ถูกที่จะทำให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมและบุคลิกที่ดีในสังคม โดยเฉพาะช่วงวัย 2-12 ปี ซึ่งอยู่ในวัยเล่น การรักษาพฤติกรรมเหล่านั้นด้วยการเล่นบำบัดจะทำได้ง่าย
“การเล่นบำบัด”เป็นการเล่นเชิงจิตวิทยาทางเลือกหนึ่งที่จะใช้ในการเยียวยาความผิดปรกติ รวมถึงส่งเสริมให้เด็กมีทักษะและพัฒนาการเป็นไปตามวัยของเขา โดยจะมีผลช่วยพัฒนาอารมณ์ทางด้านบวก ลดความกังวล ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ปลดปล่อย เทียบได้กับการบำบัดด้วยการพูดคุยเชิงจิตวิทยาในผู้ใหญ่
ก่อนที่จะใช้การเล่นบำบัด เด็กจะผ่านการประเมินจากนักจิตวิทยาในเรื่องสภาพจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ผ่านการสอบ ถามทั้งจากพ่อแม่ ตัวเด็กเอง รวมถึงพฤติกรรมที่โรงเรียน เพื่อจะได้รู้และเข้าใจตัวเด็ก ก่อนที่จะวินิจฉัยออกมาว่าต้องได้รับการดูแลในรูปแบบไหนต่อไป
การเล่นบำบัดมีหลายรูปแบบ ซึ่งเด็กจะเลือกเองตามความสนใจ เพื่อให้เขาได้แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.การเล่นด้วยระบบสัมผัส ด้วยกิจกรรมปั้น เป่าลูกโป่ง เพื่อให้สัมผัสกับของเล่นด้วยตัวเอง
2.การเล่นที่เป็นการแสดง ออกตัวตนหรือความรู้สึกนึกคิดเช่น การเล่นทราย วาดภาพ วิธีนี้จะสื่อให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเขาว่ามีอารมณ์ความรู้สึกแบบไหนผ่านงานศิลปะและการเล่นแบบสมมุติ ซึ่งจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ได้ตามใจชอบ ยกตัวอย่างการเล่นสมมุติเป็นคุณครู พ่อแม่ คุณหมอ เด็กๆจะเลือกบุคลิกของตัวเอง อาจจะเลือกเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ เพื่อแสดงออกมาว่าเขาเป็นอะไร ทำให้เรารู้ถึงความคิด ความต้องการ และความสนใจของเขา จะทำให้การเยียวยาทำได้ง่ายขึ้น
3.การเล่าบำบัดหรือการเล่านิทาน เป็นอีกวิธีให้เด็กเลือก วิธีนี้ผู้บำบัดจะต้องรู้ประวัติความเป็นมาของเด็กก่อน
อาจเล่านิทานที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับเรื่องราวที่เด็กได้เจอ เพื่อให้รับรู้ว่าจริงๆแล้วไม่ใช่เขาคนเดียวที่เป็นแบบนี้ ยังมีคนอื่นที่เป็นเหมือนเขา วิธีนี้จะทำ ให้เด็กแสดงความคิดเห็นส่วนตัวออกมาจากการฟังนิทานหรือมีส่วนร่วมในการเล่านิทานเรื่องนั้นๆ อาจมีอุปกรณ์เสริม เช่น หุ่นมือ ตุ๊กตา หรืออื่นๆ ให้เด็กใช้ประกอบในการเล่าเรื่องด้วยก็ได้
ในการเล่นบำบัดนั้น นักเล่นบำบัดควรจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กรู้สึกปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว ระยะเวลาที่เหมาะสมของการเล่นอาจจะเป็น 1-2 ชั่วโมงต่อครั้ง และต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน เพราะมากไปหรือน้อยไปกว่านี้อาจไม่เกิดผลอะไร โดยขณะที่เล่นนั้นนักเล่นบำบัดจะค่อยๆคุยกับเขา เล่นกับเขา แล้วให้แง่คิดจนเขาเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิด หรือเปลี่ยนพฤติกรรมขึ้นมาเอง
อย่างไรก็ตาม การเล่นบำบัดก็มีข้อจำกัด โดยอาจจะไม่เหมาะสำหรับเด็กที่แยกแยะไม่ออกระหว่างเรื่องสมมุติกับเรื่องจริงหรือเรื่องจินตนาการ รวมถึงเด็กที่ชอบทำร้ายตัวเอง และไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ส่วนรวมของสังคม ทำให้การเล่นบำบัดอาจไม่มีประสิทธิผลเลยก็ได้
แม้ว่าการเล่นบำบัดจะเหมาะกับเด็กโดยธรรมชาติ แต่ก็สามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีความยากลำบากในการสื่อสารโดยใช้คำพูดหรือผู้ใหญ่ที่มีความชอกช้ำในวัยเด็ก
ท้ายสุดหน้าที่สำคัญของนักเล่นบำบัดคือ เคารพในตัวตนของเด็กในแบบที่เด็กเป็น และใช้ทักษะการเล่นบำบัดช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความสบายใจ ผ่อนคลาย พัฒนาอารมณ์ทางบวก พัฒนาการเห็นคุณค่าและความสามารถของตนเอง ทำให้เด็กมีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเอง และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
ที่มา : โลกวันนี้วันสุข 17 พ.ค.2557