การรับประทานอาหารเสริม ถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นของลูกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนรู้ ว่าจะเริ่มเมื่อไร อย่างไร
หลังจากดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุประมาณ 6 เดือนก็ถึงเวลาที่หนูน้อยจำเป็นต้องได้รับพลังงานและสารอาหารบางชนิดสำหรับบำรุงร่างกายและสมองที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วให้แข็งแรงสมวัย
ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ควรเริ่มให้อาหารเสริมแก่ลูกเมื่ออายุ4-6 เดือนตามพัฒนาการ ความพร้อมด้านต่างๆของลูก เช่น น้ำหนักตัวควรเป็น2 เท่าของน้ำหนักตัวแรกเกิด แสดงให้เห็นว่าลูกต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ลูกชอบเอาของเล่น หรือนิ้วเข้าปาก มีปฏิกิริยากับอาหารแสดงให้เห็นว่าหิว หรืออิ่มได้ พร้อมที่จะอ้าปากเมื่อช้อนแตะริมฝีปาก โดยเริ่มจากอาหารอ่อนๆ อาทิ น้ำข้าวผสมข้าวบด
หากลูกสามารถรับประทานได้ต่อเนื่อง 1 สัปดาห์แสดงว่า ลูกชินกับอาหารเสริมแล้ว สามารถเติมไข่แดง หรือตับบดลงไปในข้าวบดได้
“ควรระวังไม่ให้อาหารเสริมเร็วเกินไป เพราะหากลูกยังไม่พร้อมที่จะรับประทานอาหารที่มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว อาจเกิดการสำลักอาหารเข้าหลอดลมได้ หรืออาจทำให้เกิดอาการท้องอืด เนื่องจากระบบย่อยยังไม่พร้อมในการย่อยคาร์โบไอเดรต เช่น ข้าว กล้วย ขณะเดียวกันหากให้อาการเสริมช้าเกินไป ทำให้รับสารอาหารไม่เพียงพอ”
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าว ต่อว่า หลังจากอายุครบ 6 เดือนจำนวนมื้อของนมแม่จะค่อยๆลดลงตามจำนวนมื้อของอาหารเสริมจนกระทั่งเมื่อลูกอายุประมาณ 1 ปี อาหารเสริมจะกลายเป็นอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และนมแม่วันละ3-4 มื้อถือเป็นอาหารเสริม
อาหารชนิดต่างๆที่สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารเสริมสำหรับลูกน้อย ประกอบไปด้วย ไข่ แหล่งโปรตีนสำคัญอุดมไปด้วยวิตามินเอ ธาตุเหล็ก ที่ร่างกายทารกนำไปใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดง เหตุผลที่เริ่มจากไข่แดงต้มสุกก่อน
เพราะไข่ขาวย่อยยากและเด็กแพ้ได้ง่าย ผลไม้ ควรรับประทานเป็นอาหารว่างวันละ 1-2 มื้อโดยเลือกรับประทานผลไม้ตามฤดูกาลที่ไม่หวานจัด เช่น กล้วยน้ำว้ามะละกอสุก ส้มเขียวหวาน แอปเปิ้ล มะม่วงสุก เป็นต้น
ผัก ที่มีวิตามิน แร่ธาตุ และกากใยอาหาร มาใช้ประกอบอาหารในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะผักใบเขียว และผักสีส้มเช่น ฟักทอง ตำลึง ผักบุ้ง แครอท ผักโขม ที่สำคัญควรทำให้สุกก่อนรับประทาน ปลา ควรเป็นปลาเนื้อนิ่ม และเริ่มจากปลาน้ำจืดก่อน เพราะไม่แพ้ง่าย วิธีปรุงใช้ต้ม หรือนึ่ง เอาหนังและก้างปลาออก ตับ อุดมด้วยโปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 และแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ควรเริ่มที่ตับไก่ก่อน เพราะนิ่มและกลิ่นไม่แรง
เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น หมู ไก่ เป็นแหล่งโปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสีและวิตามิน นำปรุงให้สุกก่อน ถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งมีโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ นำมาต้มให้สุกและบดให้ละเอียดเพื่อให้ย่อยง่าย ข้าว ข้างหุงสุกบดละเอียด จนลูกอายุ1ปี จึงเริ่มให้รับประทานข้าวสวย นอกจากนี้ การปรุงรสอาหารเสริมของลูก เน้นการปรุงรสธรรมชาติ ไม่ควรปรุงรส ด้วยน้ำปลา ซีอิ๊ว เกลือ น้ำตาล เพราะจะทำให้เด็กติดรสชาติ และส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมในอนาคต
มักกะโรนีทรงเครื่อง
ส่วนผสม
– มักกะโรนี 2 ช้อนโต๊ะ -แครอท 2 ช้อนโต๊ะ -ผักโขม 1 ช้อนโต๊ะ -เนื้อหมู 1 ช้อนโต๊ะ
– น้ำแกงจืด 12 ช้อนโต๊ -ฟักเขียว 2 ช้อนโต๊ะ -ตำลึง 2 ช้อนโต๊ะ -น้ำมันพืช 1/2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1.นำมักกะโรนีไปลวกแล้วนำมาหั่นขวางเป็นชิ้นเล็กๆ
2.นำแครอทและฟักเขียวมาหั่นเต๋าเป็นชิ้นเล็กๆแล้วนำไปลวกให้สุกจนนิ่ม
3.จากนั้นก็ลวกผักโขมแล้วศับให้ละเอียด
4.นำหมูสับไปลวกแล้วตีให้กระจายไม่จับเป็นก้อน
5.ตั้งน้ำซุปแล้วนำส่วนประกอบทั้งหมดใส่ลงไป
6. ต้มจนเดือด ตัดใส่ชามใส่น้ำมันพืชคนให้เข้ากัน
ไข่ม้วนวุ้นเส้น
ส่วนผสม
-ไข่(เจียว) 1 ฟอง -วุ้นเส้น -กุ้ง 1 ช้อนโต๊ะ -แครอท 1/2 ช้อนโต๊ะ
-มะเขือเทศ 1/2 ช้อนโต๊ะ -หอมหัวใหญ่ 1/2 ช้อนโต๊ะ -ผักชี 1 ช้อนโต๊ะ -ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา
-น้ำมัน 1 ช้อนชา -แอปเปิ้ล 1/2 ลูก
วิธีทำ
1. นำเนื้อกุ้งมาลวกพอสุกสับเป็นสิ้นเล็กๆ
2.นำแครอท หั่นเต๋าแล้วนำไปลวก
3.หั่นมะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ และผักชีเป็นชิ้นเล็กๆ
4.นำวุ้นเส้นไปลวกแล้วหั่นเป็นท่อนสั้นๆ
5.นำวุ้นเส้น กุ้ง แครอท มะเขือเทศ และผักชีมาผสมและคนให้เข้ากัน
6.นำไข่ผสมซี๋วขาว ตีให้ขึ้นฟูแล้วตั้งน้ำมันให้ร้อน นำไข่ลงมาทอดทีละครึ่งทอดให้บาง เมื่อไข่สุกนำส่วนผสมที่เตรียมไว้แบ่งครึ่งใส่ลงบนไข่เป็นแนว
ยาวแล้วม้วนไข่พันรอบทำซ้ำอีกครั้งในส่วนประกอบที่เหลือ
7. นำไข่ที่ม้วนแล้วหั่นเป็นท่อนสั้นๆ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์