ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมการจัดการแหล่งทรัพยากรนั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าปราศจากสำนึกและความร่วมมือของคนในชุมชน ไม้ท้องถิ่นเหล่านี้อยู่คู่ชุมชนมาช้านาน คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ แต่หากใช้เพียงอย่างเดียววันหนึ่งก็จะหมดไป จึงจำเป็นที่จะต้องเพาะขยายพันธุ์ด้วย เพื่อการมีใช้สอยอย่างยั่งยืนนั่นเอง
ชื่อท้องถิ่น กระโดนโคก กะโดนโป้
ชื่อสามัญ กระโดน
ชื่อสามัญอังกฤษ Tummy-wood, Patana oak
ชื่ออื่น ๆ กะนอน ขุยแซง จิแหน ปุย ปุยกระโดน ปุยขาว พุย ผ้าฮาด แส่เจ๊อะบะ หูกวาง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Careya sphaerica Roxb.
ชื่อวงศ์ LECYTHIDACEAE
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง 10 เมตร เปลือกหนาแตกล่อนออกเป็นแผ่น มีกิ่งก้านสาขามาก ใบเดี่ยวรูปไข่กลับ โคนใบสอบ ขอบหยักเล็กน้อย แผ่นใบบางเหนียว ออกเรียงเวียนตามปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆออกเป็นกระจุก 2-3 ดอก
กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีอย่างละ 4 กลีบสีขาวอมเขียว เกสรเพศผู้มีเป็นจำนวนมาก โดยโคนมีสีแดงปลายสีขาว ผลเป็นแบบมีเนื้อ มีหลายเมล็ด รูปร่างกลม อวบน้ำ
อายุการเก็บเกี่ยว
ใบหรือยอดอ่อน ต้องเก็บเกี่ยวเมื่อต้นโตอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
แก่น เมื่ออายุประมาณ 8 ปี ขึ้นไปจึงนำมาทำยา
ดอก จะออกดอกเมื่ออายุ 12 ปี ขึ้นไป
ผล เมื่อเจริญเติบโตอายุประมาณ 12 ปี จึงจะสามารถออกดอกออกผลได้
การใช้ประโยชน์
ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสด เปลือกใช้ทำเชือก เนื่องจากเปลือกลอกง่าย คนอีสานนิยมลอกออกมาทุบให้นิ่มทำเป็นที่นอนได้ ดอกใช้เป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตร แก่นต้มน้ำดื่มสำหรับสตรีที่อยู่ไฟ
กระโดน(กระโดนโคก) เป็นสมุนไพรที่มีอยู่ในตำรับยา ที่พบในบ้านเชียงเหียน ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม จำนวน 1 ตำรับ คือ ตำรับแก้โรคริดสีดวงทวาร วิธีใช้ ต้มกิน
ลำดับ | สมุนไพรที่ใช้ | อัตราส่วนที่ใช้ |
1 | ต้นกล้วยน้อย | 1 ส่วน |
2 | ขันทองพยาบาท(ดูกใส) | 1 ส่วน |
3 | ต้นซองแมว | 1 ส่วน |
4 | ต้นค้อแลน | 1 ส่วน |
5 | เงี่ยงดุกน้อย | 1 ส่วน |
6 | กำแพงเจ็ดชั้น(ตาไก้) | 1 ส่วน |
7 | ต้นมอนแก้ว | 1 ส่วน |
8 | มอยแม่หม้าย | 1 ส่วน |
9 | เล็บแมวแดง | 1 ส่วน |
10 | กระโดนโคก | 1 ส่วน |
11 | ตากวาง | 1 ส่วน |
การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือราก
ขั้นตอนการขยายพันธุ์
กระโดนโคกเป็นพืชผักที่มีผลขนาดใหญ่ เมื่อผลสุกผลจะล่วงลงตามพื้นเป็นอาหารของวัว วัวชอบกินผลกระโดนที่สุก เมื่อวัวกินผลแล้วจะเคี้ยวเอื้องเอาเมล็ดออกมา ขนาดของเมล็ดเท่าลูกมะนาว ให้เก็บเมล็ดที่วัวเคี้ยวเอื้องออกมา
นำมาตากแดดให้แห้ง แล้วเพาะใส่ถุงเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 45 – 60วัน เมล็ดก็จะงอก ดูแลบำรุงรักษาต้นกล้าให้แข็งแรง แล้วนำไปปลูกได้
สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ 2537
สงวนลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ ถ่ายสำเนา หรือคัดลอกข้อความ หรือรูปที่ปรากฏในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดในเอกสารนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมูลนิธิสุขภาพไทย เป็นลายลักษณ์อักษร