การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมการจัดการแหล่งทรัพยากรนั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าปราศจากสำนึกและความร่วมมือของคนในชุมชน ไม้ท้องถิ่นเหล่านี้อยู่คู่ชุมชนมาช้านาน คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ แต่หากใช้เพียงอย่างเดียววันหนึ่งก็จะหมดไป จึงจำเป็นที่จะต้องเพาะขยายพันธุ์ด้วย เพื่อการมีใช้สอยอย่างยั่งยืนนั่นเอง
ชื่อท้องถิ่น ตูมตัง จุมจัง จุมจาง
ชื่อสามัญ กระแจะ
ชื่ออื่นๆ พญายา กระแจะสัน ขะแจะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson
ชื่อวงศ์ RUTACEAE
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3-8 เมตร กิ่งก้านมีหนาม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ใบย่อย 4-13 ใบ รูปรีแกมไข่กลับ กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2-7 เซนติเมตร มีตุ่มน้ำมันกระจายทั่วไปในเนื้อใบ ก้านใบแผ่เป็นปีก ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว มี 5 กลีบ ดอกย่อยขนาด 1 เซนติเมตร ผลรูปทรงกลม เมื่อแก่มีผิวสีดำ ผิวมัน ขนาด 0.3-0.5 เซนติเมตร กระจายอยู่ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบแล้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
การใช้ประโยชน์
กิ่งอ่อนบดละเอียดผสมทำธูปหรือแป้งมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใบใช้แก้ลมบ้าหมู รากเป็นยาถ่าย
การขยายพันธุ์ ตูมตังเป็นไม้พื้นเมืองที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ขั้นตอนการขยายพันธุ์
1. นำผลตูมตังที่สุกและแก่เต็มที่จะมีลักษณะผลสีดำเข้มนำมาหมักแช่น้ำประมาณ 2-3 วัน เพื่อที่จะทำให้เปลือกและเนื้อในผลสุกเน่าเปื่อย
2.นำเมล็ดที่ได้จากการแช่น้ำล้างน้ำให้สะอาดมาตากแดดไว้ประมาณ 2-3 แดด
3. เตรียมถุงดำที่กรอกส่วนผสมของวัสดุเพาะโดยมีส่วนผสมของแกลบสุกทำการผสมกับดินร่วมปนทรายในอัตรา 2 : 1 สถานที่เพาะร่มลำไรแดดสามารถส่องถึงได้ประมาณ 40 % ของความเข้มข้นของแสง
4. นำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้นำมาหยอดใส่ถุงเพาะชำหยอดลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มอยู่ตลอดเวลา 3-5 วัน/ครั้ง อย่าให้เปียกหรือแฉะจนเกินไปจะทำให้เมล็ดพันธุ์เน่าเสียได้
5. ทำการดูแลรักษารดน้ำสม่ำเสมอประมาณ 45 วันเมล็ดก็จะเริ่มงอก
6. เมื่อต้นกล้าแข็งแรงออกใบจริงประมาณ 3-5 ใบให้ทำการขนย้ายตนกล้านำมาตากแดดไว้ที่โล่งแจ้ง เพื่อต้นกล้าจะได้แข็งแรง
สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ 2537
สงวนลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์ ถ่ายสำเนา หรือคัดลอกข้อความ หรือรูปที่ปรากฏในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดในเอกสารนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมูลนิธิสุขภาพไทย เป็นลายลักษณ์อักษร