คำว่า กระแจะตะนาว เดิมเราเข้าใจว่าคือ ต้นกระแจะ ที่อยู่แถบชายแดนไทยพม่าบนเทือกเขาตะนาวศรี แต่ชื่อเรียกสมุนไพรแปลกแต่เพราะชื่อนี้ มีบันทึกไว้ในตำรายาไทยหลายแห่งหลายที่ เช่น ในศิลาจารึกวัดโพธิ์ แผ่นที่ 31 ซึ่งมียาชื่อ มหาสมมิตร์ ก็พบ กระแจะตะนาว เป็นองค์ประกอบของยาตำรับนั้นด้วย จากเอกสารและฐานข้อมูลหลายแหล่งกล่าวว่า “กระแจะตะนาว” หมายถึงชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวมอญเรียกว่า ต้นตะนาว ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hesperethusa crenulata M.Roem. หรือที่เราคุ้นเคยว่าคือต้นทานาคา หรือต้นตูมตังที่เรียกกันในภาคอีสาน แต่ก็มีข้อมูลบางแหล่งกลับบอกว่า กระแจะตะนาว เป็นชื่อเครื่องหอมชนิดหนึ่งที่มีผลิตมากที่แถบถนนตะนาวใกล้ๆ เสาชิงช้าใจกลางกรุงกรุงเทพมหานครนี้เอง
จึงมีการตีความคำว่ากระแจะตะนาวไป 2 ทาง คือ ชื่อพืชสมุนไพร และชื่อเรียกเครื่องหอมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อสืบค้นเอกสารจากหอสมุดแห่งชาติ ในหมวดเวชศาสตร์ ชื่อตำรายาเกร็ด เลขที่ ๕๑๑ มัดที่ ๓๒ ตู้ ๑๑๒ ชั้น ๔/๒ ได้กล่าวไว้ว่า การทำกระแจะตะนาว มีองค์ประกอบและวิธีการทำดังนี้ “ดอกพิกุล ๑ ดอกกดังงาเทษ ๑ เกษรษารภี ๑ ผิวมกรูต ๑ ใบภิมเสน ๑ ใบกระเจะ ๑ แฝกแหวมู ๑ ขอนดอก ๑ เกล็ดหอยเทษ ๑ โกฐหัวบัว ๑ เนื้อไม้ ๑ จันเทษ ๑ หญ้าฝรั่น ๑ ชมดเชียง ๑ ภิมเสน ๑ เอาสิงลส่วน ๑ ดอกกะเจียว ๑๖ ส่วน เอา น้ำกระแจะเปนกระสาย บททำแท่งตากไว้ในร่มย่าให้ถูกแดดกว่าจะแห้ง ใส่ขวดนึงไว้ แส…ตัวอักษรเลือน…แล”
บันทึกโบราณชิ้นนี้ก็แสดงว่า กระแจะตะนาว เป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่ง ประกอบด้วย ดอกพิกุล ดอกกระดังงาเทศ เกสรสารภี ผิวมะกรูด ใบพิมเสน(ต้น) ใบกระแจะ แฝกแห้วหมู ขอนดอก เกล็ดหอยเทศ โกฐหัวบัว ไม้กฤษณา จันทน์เทศ หญ้าฝรั่น ชะมดเชียง พิมเสน(เกล็ด) อย่างละ 1 ส่วน มาบดรวมกับดอกกระเจียว 16 ส่วน โดยเอาน้ำกระแจะเป็นน้ำกระสาย นำส่วนประกอบที่ได้มาปั้นให้เป็นแท่งผึ่งให้แห้งในที่ร่ม อย่าให้ถูกแดด
จากตำรับดังกล่าวจะเห็นว่าองค์ประกอบทั้งหมดเป็นสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม การปรุงเครื่องหอมเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ปรุงยาน่าจะเป็นเรื่องปกติของคนสมัยก่อน ดังจะเห็นได้จากสังคมในภาคอีสานก็มีการทำเครื่องหอมใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อขับไล่แมลง เห็บ เหา โลน เป็นต้น เครื่องหอมหล่านี้ยังใช้เป็นเครื่องบำรุงจิต ลดความเครียดและอาจเป็นสุคนธบำบัดประเภทหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากเครื่องปรุงของกระแจะตะนาว ค่อนข้างชัดเจนว่าส่วนหนึ่งน่าจะใช้เป็นเครื่องหอม
แต่ก็มีอีกหลายท่านเห็นว่า กระแจะตะนาวเป็นพืชสมุนไพรในเครื่องปรุงยา เช่น ในตำรับยาชื่อ มหาสมมิตร์ กล่าวถึง กระแจะเป็นส่วน ประกอบยา ดังนี้ พิกุล (Mimusops elengi Sieber ex A.DC.) ส่วนดอกใช้บำรุงโลหิต มีกลิ่นหอม กระดังงาเทศ (Cananga odorata Hook.f. & Thomson) ดอกใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ เป็นยาแก้ไข้ น้ำมันหอมระเหยใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ทำน้ำหอม สารภี (Mammea siamensis T.Anderson) เกสรมีสรรพคุณ ช่วยทำให้ชื่นใจ ช่วยบำรุงครรภ์รักษา มะกรูด (Citrus hystrix DC.) ผิวของผลปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่น เป็นยาบำรุงหัวใจ พิมเสน(ต้น) (Pogostemon cablin (Blanco) Benth.) ตำรายาไทยใช้ใบเป็นยาลดไข้ ใช้ปรุงเป็นยาเย็น แก้ไข้ทุกชนิด ช่วยถอนพิษร้อน ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง มักปรุงในตำรับยาเขียว ยาถอนพิษไข้ ยาจันทลีลา
กระแจะ(หรือกระแจะตะนาว) (Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem.) ส่วนของใบมีรสขมและเฝื่อน ใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นต้มกินแก้ลมบ้าหมู แต่บางตำรับให้ใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว ช่วยในการคุมกำเนิด ช่วยแก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูก แฝกแห้วหมู (Cyperus rotundus L.) หัวใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ยาอายุวัฒนะ ขอนดอก คือเนื้อไม้ที่มีราลงของไม้พิกุล หรือไม้ตะแบก ขอนดอก ใช้บำรุงตับ บำรุงปอด บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้ลมกองละเอียด แก้ลมวิงเวียน บำรุงทารกในครรภ์ แก้ไข้ร้อนเพื่อตรีโทษ เกล็ดหอยเทศ (Hydrocotyle sibthorpioides) ทั้งต้นใช้รักษาอาการหอบ หืด เจ็บคอ ลดไข้ ใช้รักษากระดูกหัก รักษาแผลเน่าเปื่อยที่เป็นฝีหนอง โกฐหัวบัว (Ligusticum sinense Oliv.) เหง้า แก้ลมในกองริดสีดวง กระจายลมทั้งปวง (แก้ลมที่คั่งอยู่ในลำไส้ ทำให้ผายออกมา) ขับลม แก้ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกระดูก ในจีนใช้เป็นยาแก้หวัด แก้ปวดศีรษะและปวดต่างๆ แก้โรคโลหิตจาง แก้ปวดประจำเดือน
ไม้กฤษณา (เนื้อไม้) (Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte) เนื้อไม้มีรสขม หอม ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงกำลัง ช่วยบำรุงโลหิต จันทน์เทศ (Myristica fragrans Houtt.) ใช้แก้ธาตุพิการ บำรุงกำลัง แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต แก้จุกเสียด ขับลม รักษาอาการอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ฯลฯ หญ้าฝรั่น (Crocus sativus L.) ในประเทศเยอรมนีมีการใช้เพื่อเป็นยาคลายกล้ามเนื้อประสาท ช่วยผ่อนคลายความเครียดของระบบประสาท ยอดเกสรและกลีบดอกหญ้าฝรั่นช่วยรักษาภาวะซึมเศร้าได้ ชะมดเชียง เป็นไขจากต่อมกลิ่นที่อยู่ระหว่างอัณฑะและสะดือของชะมด ชะมดเชียงมีกลิ่นหอม รสขมเล็กน้อย ตำรายาแผนโบราณระบุว่า ใช้ปรุงเป็นยาชูกำลังและบำรุงดวงจิตมิให้ขุ่นมัว ใช้ผสมในยาแผนโบราณต่างๆ หลายขนาน แก้โรคลม โรคเกี่ยวกับโลหิต โรคตา เส้นประสาท ไอหอบหืด ฯลฯ พิมเสน(เกล็ด) พิมเสนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ พิมเสนที่ได้จากธรรมชาติและพิมเสนสังเคราะห์ พิมเสนธรรมชาติมาจากการระเหิดของยางจากต้นไม้ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dryobalanops aromatica Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา พิมเสนสังเคราะห์ ได้จากสารสกัดจากสมุนไพรหลายชนิด เช่น ต้นการบูร (Cinnamomum camphora (L.) Presl.) หนาด หรือพิมเสนหนาด (Blumea balsamifera (L.) DC.) หรือมาจากน้ำมันสนโดยผ่านวิธีทางเคมีวิทยา พิมเสนมีรสเผ็ดขม มีกลิ่นหอม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและปอด เป็นยาบำรุงหัวใจ
กระแจะตะนาว ตำรับโบราณชื่อนี้เป็นได้ทั้งเครื่องหอมที่สังคมไทยควรนำกลับมาฟื้นฟูภูมิปัญญาเพื่อนำของดีมาช่วยลดความเครียดในชีวิตประจำวัน ใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพบำรุงกายใจได้อย่างดี.