ชื่อเรื่อง คือ ชื่อสมุนไพร คนนอกวงการคงนึกแปลกกับชื่อ แต่คนในวงการย่อมเคยได้ยินและรู้จัก แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดคิดว่า กระเช้าผีมดและหัวร้อยรู เป็นสมุนไพรชนิดดียวกัน
แต่ถ้าใครร่ำเรียนคัมภีร์ยาแพทย์แผนไทยจะพบว่า ใน “พิกัดมหากาฬทั้ง 5” มีตัวยาประกอบด้วย หัวถั่วพู หัวกระเช้าผีมด หัวร้อยรู มหากาฬนกยูง มหากาฬใหญ่ สรรพคุณ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษอักเสบ ช้ำบวม แก้พิษไข้ ไข้กาฬ ประดงผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย นี่ย่อมแสดงว่าสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นคนละอย่าง และจากการสืบค้นข้อมูลในเบื้องต้นพบว่า ในฐานข้อมูลสมุนไพรของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทาลัยอุบลราชธานี ได้กล่าวไว้ว่า หัวร้อยรูมีชื่อเครื่องยา เรียกว่า “กระเช้าผีมด” จึงเป็นที่มาว่า ทำไมบางท่านจึงเกิดความสับสน คิดว่ากระเช้าผีมดและหัวร้อยรูเป็นพืชชนิดเดียวกัน จึงขอนำเสนอรายละเอียดของสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด ให้เรียนรู้ ดังนี้
กระเช้าผีมด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aristolochia acuminata Lam. ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษคือ Birthwort, Indian; Native Dutchman’ Pipe; Indian Birthwort ชื่ออื่น ๆในท้องถิ่นของประเทศไทย เช่น ปุลิง (เชียงใหม่) กระเช้ามด กระเช้าสีดา (กรุงเทพฯ) กระเช้ามด กระเช้าผีมด (ภาคกลาง) เจี่ยต้าสู่ เอ่อเย่หม่าเอ๋อหลิน เฮยเมี่ยนฝังจี่ มู่ฝังจี่ (จีนกลาง) ผักข้าว ผักห่ามป่าย ผักห่ามหนี (คนเมือง) ชั้วมัดหลัว (ม้ง) คอหมู่เด๊าะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) บ่ะหูกว๋าง พ่วน ลำเด่อ (ลั้วะ) กระเช้าผีมดเป็นพืชในกลุ่มเดียวกับไก่ฟ้า กระเช้าสีดาและไคร้เครือ ซึ่งมีรายงานว่ามีสารในกลุ่มกรดอะริสโตโลคิก (aristolochic acids) ซึ่งเป็นพิษต่อไตและก่อให้เกิดมะเร็ง จึงเป็นเหตุให้ตำรับยาไทยที่มีไคร้เครือเป็นองค์ประกอบได้ถูกระงับการใช้ไป กระเช้าผีมดมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของทวีปเอเชีย ไปจนถึงทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย มีการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรในเกือบทุส่วนของพืช เช่น
ใบ ต้น ราก มีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาเย็นไม่มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและปอด ใช้เป็นยาช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ใช้เป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะที่ติดเชื้อ ช่วยลดอาการบวมน้ำ ขับพิษที่ติดจากเชื้อไวรัส หรือพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ใช้เป็นยาแก้ปวดบวม แก้อักเสบ กระเพาะอักเสบ ไขข้อปวดบวม
เถา/ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาทำให้ธาตุปกติ คนเมืองทางภาคเหนือของไทยจะใช้ลำต้นนำมาต้มให้เด็กที่มีอาการไม่สบายอาบ ใช้หย่านมเด็ก
ใบ ใช้ตำเป็นยาพอกศีรษะลดไข้ พอกแก้โรคผิวหนัง ใบนำมาเผาให้ร้อน ใช้วางนาบไว้บนท้องหรือตามแขนขาที่บวม จะช่วยแก้อาการปวดบวมได้ ชาวม้งจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบรรเทาอาการปวดเอว หรืออาจทุบแล้วใช้ประคบเอว
เมล็ด ใช้เป็นยาแก้คออักเสบ
นอกจากจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรแล้ว ยังมีการนำเอากระเช้าผีมดไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น ใบใช้เป็นอาหารสำหรับการเลี้ยงผีเสื้อ ชาวลั้วะจะใช้เปลือกต้นนำมาลอกออกแล้วนำเส้นใยมาสานสวิงได้ ผลสุกสามารถนำมารับประทานได้ ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้นึ่งหรือลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ใช้ประกอบอาหาร เช่น แกง เป็นต้น และสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
จากการใช้ประโยชน์ดังกล่าวจะเห็นว่า กระเช้าผีมดมีคุณค่าต่อการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้นต่อไป มากกว่าที่จะคิดว่าเป็นสมุนไพรมีพิษ แล้วทำให้เกิดอุปสรรคในการนำมาใช้ประโยชน์
สำหรับหัวร้อยรู มีชื่อสามัญว่า Ant plant มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hydnophytum formicarum Jack มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่อินโดจีนไปจนถึงนิวกีนี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปุ่มฟ้า ปมเป้า ปุ่มเป้า ปุมเป้า หัวร้อยรู (ตราด) กระเช้าผีมด (สุราษฎร์ธานี) ร้อยรู (ปัตตานี) กาฝากหัวเสือ (นราธิวาส) ดาลูบูตาลิมา ดาลูปูตาลิมา (มลายู-ภาคใต้) หัวร้อยรู (ภาคกลาง) ป่าช้าผีมด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) หัวร้อยรูเป็นพืชจำพวกหัว ที่อาศัยเกาะตามต้นไม้อื่น ต้นแก่ของหัวร้อยรูมีหัวกลมโตขนาดเท่าลูกมะพร้าวห้าว ภายในหัวเป็นรูย้อนขึ้น ย้อนลง พรุนไปทั่ว เมื่อผ่าออกดู มักมีมดดำอาศัยอยู่เต็มหัว ต้องนำมาแช่น้ำทิ้งไว้จนกว่ามดจะออกไปหมด เนื้อนิ่ม สีน้ำตาลไหม้ มักขึ้นตามคาคบไม้ หัวมีรสเมา
ในตำรายาไทยใช้หัว เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับชีพจร ขับพยาธิ แก้พิษประดง แก้ข้อเข่าข้อเท้าบวม รักษามะเร็ง ใช้เป็นยารักษาเบาหวาน โดยการนำหัวร้อยรูมาผสมกับแก่นสัก รากทองพันชั่ง ต้นกำแพงเจ็ดชั้น หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ และหญ้าชันกาดทั้งต้น นำมาต้มเป็นน้ำดื่ม นอกจากนี้หัวยังใช้เป็นยาแก้พิษในข้อกระดูกหรือโรคกระดูกที่มีอาการเจ็บปวด กระดูกเปราะ ผิวหนังเป็นจ้ำ มีผื่น ซึ่งอาจเป็นแผลที่กินลึกจนถึงกระดูกได้ ช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี นอกจากใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังมีประโยชน์ในเรื่องของความเชื่อ ด้วยเชื่อว่าหัวร้อยรูเป็นว่านทางเสน่ห์เมตตามหานิยม สามารถนำมาใช้ร่วมกับกาฝากชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ทำเป็นวัตถุมงคล
หัวร้อยรูพบได้ตามธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่จะพบมากตามป่าชายเลน และเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาไทยกันมากพอสมควร ปัจจุบันมีชาวบ้านในชุมชนหลายแห่งทำการเพาะปลูกขยายพันธุ์หัวร้อยรู เช่น ป่าบ้านทุ่งตะเซะ ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ที่ทำการเพราะปลูกสมุนไพรชนิดนี้จำหน่ายด้วย
หัวร้อยรูเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนส่งเสริมการใช้ตำรับยาไทยได้อย่างดี ไม่จำเป็นต้องแห่กันปลูกพืชสมุนไพรยอดนิยมเท่านั้น ในตำรับยาไทยยังมีพืชสมุนไพรอีกจำนวนมากที่ต้องการการเพาะขยายพันธุ์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ และอย่าลืมว่า กระเช้าผีมด และ หัวร้อยรู เป็นพืชคนละชนิด หันมาส่งเสริมการศึกษาวิจัยให้เพิ่มขึ้นก็จะดีแท้.