กระวานจัดเป็นสมุนไพรและเป็นเครื่องเทศที่มีความสำคัญในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ใครที่ค้นประวัติศาสตร์จะพบว่ากระวานเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญชนิดหนึ่งมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวยุโรปรู้จักกระวานไทยมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ในนามของ Amomum และมีรายงานว่ากรุงเทพมหานครเป็นแหล่งใหญ่ของการส่งออกกระวานโดยทางเรือไปยังอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น มีบันทึกในปี ค.ศ. 1857 ว่าได้มีการซื้อขายกระวานไปที่ตลาดที่กรุงลอนดอน และในปี ค.ศ. 1871 มีการส่งกระวานจากไทยไปยังจีนและสิงคโปร์ น้ำหนักถึง 623,733 ปอนด์
กระวานไทยได้เข้าไปอยู่ในมาตรฐานอาหารและยาของฝรั่งเศส และเข้าไปอยู่ในเภสัชตำรับของเมืองดับบลิน ประเทศอังกฤษ ซึ่งกระวานมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Cardamoms และมีรายงานว่ากระวานหรือ Cardamoms ที่ส่งออกไปจากประเทศไทยมี 2 อย่าง คือ Best Cardamoms ซึ่งน่าจะหมายถึงกระวานไทย และ Bastard Cardamoms ซึ่งน่าจะหมายถึงเร่ว จะขอกล่าวเล่าถึงกระวานไว้ก่อน ส่วนสมุนไพรชนิดอื่น ๆ จะนำเสนอในลำดับต่อไป
กระวาน ที่ปรากฎในท้องตลาดมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ กระวานไทย กระวานเทศและใบกระวาน สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดเป็นพืชคนละสกุล กระวานไทยอยู่ในสกุล Wurfbainia กระวานเทศอยู่ในสกุล Elettaria และใบกระวานมาจากพืชหลายสกุล ส่วนใหญ่อยู่ในวงอบเชย (Lauraceae) และวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae)
กระวานที่คนไทยรู้จักหรือที่เรียกว่า กระวานไทย ในสกุล Wurfbainia ยังมาจากพืช 2 ชนิด คือ Wurfbainia testacea (Ridl.) Škorničk. & A.D.Poulsen และ Wurfbainia vera (Blackw.) Škorničk. & A.D.Poulsen ทั้ง 2 ชนิดมาจากคนละแหล่ง ดังนี้
ชนิด Wurfbainia vera (Blackw.) Škorničk. & A.D.Poulsen ชื่อเดิมคือ Amomum krervanh Pierre ex. Gragnepain ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษคือ round Siam cardamom ดูจากชื่อก็บอกว่าพบในสยาม พบบนภูเขาสูงในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขาสอยดาวซึ่งอยู่ติดชายแดนเขมร จากฐานข้อมูลสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว กล่าวว่าถิ่นกำเนิดของกระวานชนิดนี้อยู่ที่ กัมพูชา เกาะสุมาตรา ไทยและเวียดนาม ในอดีตประเทศไทยคือเมืองท่ามีการส่งออกผลผลิตจากไทยเป็นจำนวนมากและน่าจะรวบรวมมาจากกัมพูชาและเวียดนามด้วย
ชนิด Wurfbainia testacea (Ridl.) Škorničk. & A.D.Poulsen โดยมีรายงานถิ่นกำเนิดของกระวานชนิดนี้อยู่ที่ เกาะบอร์เนียว จีน มาเลเซีย ไทยและเวียดนาม ในประเทศไทบพบในจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ตรัง ยะลา นราธิวาส สุราษฎร์ธานี
ซึ่งเมื่อเทียบทั้ง 2 แหล่ง กระวานแถบจันทบุรีจะมีผลผลิตสูงและคุณภาพตรงตามความต้องการของท้องตลาดมากกว่า
กระวานไทยชนิด Wurfbainia vera มีชื่อท้องถิ่น เช่น ปล้าก้อ (ปัตตานี) กระวานขาว (ภาคกลาง ภาคตะวันออก) มะอี้ (ภาคเหนือ) ข่าโคก ข่าโค่ม หมากเนิ้ง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กระวานไทย กระวานดำ กระวานแดง กระวานจันทร์ กระวานโพธิสัตว์ ภาษาเขมรเรียกว่า “กระวาน” (krâva:nh) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นพืชล้มลุก มีเหง้า ส่วนเหนือดินสูง 2 – 3 เมตร ใบหอกแคบ ช่อดอกเกิดจากเหง้าใกล้โคนต้น ช่อตั้งตรง ใบประดับรูปสามเหลี่ยม สีนํ้าตาล เนื้อบางคล้ายกระดาษ มีร่องเล็กๆ ตามแนวยาวจำนวนมาก ดอกสีขาว กลีบปากมีแถบสีเหลือง ผลกลมหรือเป็นสามพูตื้นๆ เมล็ดสีเทาดำ
ดอกอ่อน ยอดอ่อน หน่ออ่อน และผลอ่อน นำมาเผาไฟกินกับนํ้าพริก ยอด แกงกินได้ ผลแก่ นำไปตากแห้ง ใช้เป็นเครื่องเทศ หัว ต้มนํ้าดื่ม เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับปัสสาวะ ฝนทาแก้งูสวัด ผล ใช้ขับลม จากงานวิจัยพบว่ามีการใช้กระวานเป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาอัมพาตและงูสวัดด้วย และในเอกสารโบราณของเขมรพบว่ากระวานชนิดนี้ใช้เข้ายารักษาไข้ ไส้เลื่อน ท้องผูก ปวดแผลที่เกิดจากของมีคม มดลูกหย่อน โรคเรื้อน ในจีนใช้ผลกระวานเข้ายารักษาไวรัสที่ทำให้เกิดอาการปอดบวม โรคเกี่ยวกับลำไส้ สะเก็ดเงิน และยังผสมในตำรับยาแก้อาการผิดปกติในไตหรือโรคไตเรื้อรัง และใช้เป็นยาชูกำลังด้วย ส่วนในยุโรปมีการนำสมุนไพรส่วนของผลกระวานใช้เป็นยารักษาอาการปวดท้องและปรุงแต่งรสอาหาร
สำหรับกระวานไทยชนิด Wurfbainia testacea มีชื่อพื้นเมืองหลายชื่อ เช่น กระวาน (จันทบุรี ปัตตานี) กระวานขาว กระวานโพธิสัตว์ (ภาคกลาง) ปล้าก้อ (ปัตตานี) มีชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Camphor seed, Siam cardamon เป็นพืชล้มลุก มีเหง้า สูงประมาณ 2 เมตร กาบใบหุ้มซ้อนกันทำให้ดูคล้ายลำต้น ใบเดี่ยว แคบยาว รูปขอบขนาน ปลายแหลม ช่อดอกออกจากเหง้าชูขึ้นมาเหนือพื้นดิน รูปทรงกระบอก ใบประดับสีเหลืองนวล มีขนคาย เรียงซ้อนสลับกันตลอดช่อ กลีบดอกสีเหลือง เป็นหลอดแคบ ช่อดอกกระวานจะโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินเล็กน้อย และเจริญเติบโตเป็นผลลักษณะเป็นพวง เกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์แปรสภาพเป็นกลีบขนาดใหญ่ สีขาว มีแถบสีเหลืองตรงกลาง ผลกลมเปลือกเกลี้ยงเป็นพู ผลมีสีขาวนวล ในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาลแก่จำนวนมาก เมล็ดอ่อนสีขาวมีเยื่อหุ้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร
ส่วนของผลมีกลิ่นหอมจึงนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ ใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ และใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาถ่าย เพื่อช่วยลดอาการบิดมวนท้อง ต้นอ่อนและช่อดอกอ่อนกินเป็นผัก จากงานวิจัยพบว่ามีการใช้กระวานชนิดนี้เป็นยาแก้หอบหืด ขับลมในกระเพาะ ลำไส้ใหญ่อักเสบ ท้องอืด น้ำมันกระวานทำให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ทางภาคใต้ของไทยนิยมนำผลสดมาแกงเป็นอาหาร
ปัจจุบันการปลูกกระวานในจังหวัดจันทบุรีที่เป็นแหล่งปลูกชั้นดีลดน้อยลงมาก แต่พบเกษตรกรในจังหวัดพัทลุงกำลังปลูกมากขึ้นโดยนำสายพันธุ์ไปจากจันทบุรี กระวานไทยของดีพรีเมี่ยมจากอดีต เป็นทั้งอาหารและยาของชาวโลก หันกลับมาส่งเสริมกระวานไทยน่าจะดี.