ความตอนที่แล้ว เล่าถึงวรรณคดีไทยขุนช้างขุนแผนตอนพลายชุมพลจับเสน่ห์ โดยปลอมตัวเป็นแขกชวากับจหมื่นศรีไปล่อจับเถรขวาดที่ทำเสน่ห์พลายงาม แผนขั้นแรกคือประเคนหม้อตุ้งก่าจุดกัญชาถวายพระ กะมอมกัญชาก่อน แต่พระแสบคอไม่เล่นด้วย ความว่า
“สองแขกขยับจับตุ้งก่า จ้าหลิ่มยัดกัญชาไฟจุดเข้า
สูบคนละจ้าหลิ่มทำยิ้มเมา เถรเฒ่าว่าอะไรข้างในดัง
สองแขกว่าข้างในนั้นใส่น้ำ เถรขวาดว่ามันทำเป็นอีฉัง
กูจะขอลองรสหมดหรือยัง หยิบไฟเก้กังมาทันใด
สองแขกก็ยัดกัญชาส่ง เถรชักคอก่งไม่ทนได้
แสบคอเป็นจะตายหงายหน้าไป กูไม่เอาแล้วอย่าส่งมา”
เมื่อแผนขั้นแรก คือ มอมกัญชาจ้าหลิ่ม(พวยใส่ใบกัญชา)ไม่สำเร็จ แผนขั้นสอง คือมอมยาฝิ่น ปรากฏว่าเถรขวาดติดฝิ่นงอมแงม เผลอคายความลับอย่างลืมตัว จากประสบการณ์ทางวัฒนธรรมยาเสพติดในวรรณกรรมประจำชาติเรื่องนี้ บอกเราว่า กระท่อม-กัญชา เสพติดยากกว่าติดฝิ่น กินเหล้าหรือติดหมาก บุหรี่เสียอีก ยังมีตัวอย่าง ดูอย่างนางทองประศรีมารดาขุนแผน ตื่นเช้ามาไม่ทันล้างหน้าก็ตำหมากใส่ปากแล้ว
“ครั้นรุ่งแจ้งแสงสว่างหล้า ทองประศรีตื่นตาหาช้าไม่
ล้างหน้าตำหมากใส่ปากไว้ นั่งเคี้ยวไป เคี้ยวไปแล้วตรองการ”
แต่ก็สะกิดเตือนไว้แน่นอน เหล้า กัญชา ยาฝิ่นย่อมไม่ใช่ของดีตามค่านิยมไทย ดังเช่น พ่อแม่ไม่ยกลูกสาวให้คนกินเหล้าเมากัญชาติดยาฝิ่น ดังเนื้อความตอนนางศรีประจันสอบถามความประพฤติของพลายแก้วที่จะมาเป็นลูกเขยว่า
“ตูจะขอถามความท่านยาย ลูกชายนั้นดีหรืออย่างไร
ไม่เล่นเบี้ยกินเหล้าเมากัญชา ฝิ่นฝามันสูบบ้างหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยจนกระทั่ง พ.ศ.2486-2487 พืชกระท่อม-กัญชายังไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำลายสุขภาพหรือผิดศีลธรรมร้ายแรงเหมือนกับเหล้า บุหรี่ด้วยซ้ำ พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.2486 และพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ.2487 ซึ่งออกมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เพราะรัฐบาลยุคนั้นต้องการเก็บภาษีผูกขาดจากฝิ่นให้มากขึ้น จึงต้องกำจัดคู่แข่งซึ่งปลูกง่าย เสพง่ายแต่ไม่มีรายได้เข้ารัฐ
ถึงกระนั้น กฎหมายทั้งสองฉบับก็ยังอนุญาตให้ใช้พืชสมุนไพรทั้งสองชนิดในการประกอบโรคศิลปได้ โดยเฉพาะ แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ที่มีอยู่ทั่วทุกท้องถิ่นทั้งประเทศไทย มีตำรับยาดีที่ประกอบด้วยส่วนพืชกระท่อม กัญชา ทั้งที่เป็นยาตำราหลวงและพื้นบ้านนับร้อยตำรับที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมของไทยกลับถูกตัดตอนทำหมันโดยรัฐไทยที่ขาดความรู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการ โดยตราพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ตีตรวนพืชกระท่อม กัญชา จากที่เคยเป็นสมุนไพรให้คุณทางการแพทย์อย่างอนันต์ กลายเป็นยาเสพติดให้โทษมหันต์ หรือพืชอาชญากรอุจฉกรรจ์ไปเลย
กล่าวเฉพาะพืชกระท่อมเอง สหประชาชาติมิได้ประกาศให้อยู่ในบัญชีรายชื่อยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์แต่อย่างใด นอกจากพม่า มาเลเซีย นิวซีแลนด์และออสเตรเลียแล้ว ก็ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ตีตราพืชกระท่อมเป็นพืชผิดกฎหมายเลย ยกเว้นประเทศไทยซึ่งเป็นถิ่นภูมิปัญญาพืชกระท่อมแท้ๆ คิดดูเถอะเมืองไทยมีข้อมูลการใช้พืชกระท่อมตามภูมิปัญญาพื้นบ้านมากที่สุด แต่เรากลับไม่ได้รับประโยชน์จากพืชกระท่อมเลย ผิดกับประเทศที่ไม่เคยมีภูมิปัญญากระท่อมในอดีต อย่างญี่ปุ่นก็ยังชิงจดสิทธิบัตรสารไมตร้าจีนีน(7-hydroxy mitragynine) เป็นยาระงับปวดน้องๆ มอร์ฟีนเลยทีเดียว
ส่วนกัญชานั้นหลายประเทศทั้งในญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกาและยุโรป อาทิเช่น เนเธอร์แลนด์ สามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ของกัญชาในเชิงรุก ขณะที่เมืองไทยซึ่งเป็นแหล่งต้นพันธุ์กัญชาที่ดีที่สุดในโลก คือ พันธุ์หางกระรอก ในชื่อพฤกษศาสตร์ว่า แคนนาบิส ซาติว่า(Cannabis sativa L.) กลับยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ว่าจะปลดล็อคกัญชาไปในทิศทางใด ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและราคาถูกที่สุดโดยไม่ตกไปอยู่ในมือกลุ่มทุนผูกขาดทางการแพทย์
ถ้าว่ากันโดยสปีชีส์(species)แล้ว นักพฤกษศาสตร์ย่อมรู้ดีว่า พืชวัตถุใดที่มีชื่อสปีชีส์ภาษาละตินว่า”sativa , sativum หรือ sativus” แสดงว่า พืชชนิดนั้นกินเป็นอาหารได้อย่างปลอดภัย (Eatable product) เช่น ข้าวเจ้า(Oryza sativa), ข้าวโอ๊ต(Avena sativa) ,เกาลัด(Castanea sativa), กระเทียม(Allium sativum), ผักชี(Cariandrum sativum) และญ่าฝรั่น(Crocus sativus) เป็นต้น
การสร้างมายาคติว่าการปลดล็อคกระท่อม-กัญชาจะทำให้มีคนขี้ยามากขึ้น และมีการใช้ในทางที่ผิดมากขึ้น โดยลืมไปว่ากระท่อม-กัญชาเป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาดีได้ด้วย ไม่ใช่เหล้าบุหรี่ที่มีแต่โทษ การล็อคหรือผูกขาดกระท่อม-กัญชาเท่ากับเป็นการปิดกั้นไม่ให้หมอไทย หมอพื้นบ้านได้ใช้ภูมิปัญญาพัฒนาด้านบวกของสมุนไพรทั้งสองนี้ได้อย่างเต็มที่ จึงเปิดช่องให้พวกขาดความรู้นำไปใช้ในทางที่ผิดด้านเดียว จนฝ่ายความมั่นคงหวาดผวาหรือเกิดภาพหลอนจากมายาภาพที่พวกตนสร้างขึ้นเอง โดยที่หารู้ไม่ว่า ทั้งการปิดกั้นหรือการผูกขาดจะก่อให้เกิดโทษอย่างมหันต์ยิ่งกว่าการคลายล็อคและการเปิดกว้างเสียอีก
มูลนิธิสุขภาพไทยลงภาพกัญชาเมื่อครั้งที่ผ่านมาคลาดเคลื่อน ได้แก้ไขภาพที่ถูกต้องในครั้งนี้ จึงขออภัยผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้
ก้าวสู่ปีใหม่นี้ หวังใจว่ากระท่อมกัญชาจะกลับมาสู่การใช้ประโยชน์เพื่อช่วยบำบัดรักษาโรคและดูแลสุขภาพให้กับคนไทยได้วันหน้า.