สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ณ วันอังคารที่ 30 มีนาคม 2564 ยอดผู้ติดเชื้อรวมประมาณ 128 ล้านราย รักษาหายแล้ว 103 ล้านราย เสียชีวิตถึง 2 ล้านกับอีก 8 แสนราย เป็นโรคระบาดที่ส่งผลต่อสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจไปทั่วโลก ดังที่ทราบกันดีว่ามีรายงานครั้งแรกที่เมื่องวู่ฮั่น ประเทศจีนในช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลานั้นไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน ทั่วโลกต่างก็เร่งหาทางรักษาและป้องกัน จนถึงวันนี้มีวัคซีนออกมาอย่างเร่งด่วนหลายยี่ห้อ แม้ว่าการกระจายยังไม่ทั่วถึง แต่เชื่อว่าในไตรมาสที่ 3 และสิ้นปีนี้ ในประเทศไทยน่าจะมีวัคซีนกระจายได้มากขึ้น
ประเทศไทยเราก็กำลังมีการศึกษาวิจัยสมุนไพรหลายชนิดกับโควิด-19 แต่วันนี้ชวนผู้อ่านมาร่วมเรียนรู้ความร่ำรวยทางภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมจีน ซึ่งมีตำรับยามากมายที่สามารถนำมาเลือกและปรับใช้กับสถานการณ์วิกฤต ในช่วงเวลาที่กำลังระบาดหรือระยะต้น ๆ ที่คนติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นั้น ทางจีนมีการใช้ยาอยู่ 2 ตำรับ คือ
ตำรับที่ 1.Ma xing shi gan decoction (MXSG) หรือเรียกว่า ตำรับยา หมาหฺวางซิ่งเหรินกาน
ฉ่าวสือ เป็นชื่อตำรับยา ประกอบด้วยตัวยา 4 ชนิด ได้แก่
1)หมาหฺวางหรือมาฮวง (Chinese ephedra or Ma Huang) เป็นสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Ephedra sinica Stapf อยู่ในวงศ์ Ephedraceae มีถิ่นกำเนิดในมองโกเลีย รัสเซียและภาคตะวันออก เฉียงเหนือของจีน มีการใช้มาอย่างยาวนานกว่าพันปี โดยการนำเอาส่วนของลำต้นมาทำให้แห้ง นำมาชงดื่มเป็นชา มีสรรพคุณในการแก้แพ้ คัดจมูก อาการหอบหืด ไอและไข้หวัด ปัจจุบันใช้ชื่อว่ายา”มาฮวง” ที่มีการผลิตในรูปแบบเป็นเม็ด แคปซูล ทำเป็นสารสกัดหรือยาน้ำก็มี จนกระทั่งในตอนต้นปี ค.ศ. 2000 มาฮวงได้ถูกนำใช้เป็นสารเสริมอาหารสำหรับนักกีฬาเพื่อกระตุ้นการทำงานของร่างกาย และยังนำมาใช้เป็นสารกดอาการอยากอาหารในคนที่ต้องการลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นแนวทางการใช้สมุนไพรที่แตกต่างไปจากความรู้ ดั้งเดิม ก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบ เป็นต้น ดังนั้นใน ปี ค.ศ. 2004 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา จึงระงับการขายยาชนิดนี้ที่ใช้เป็นสารเสริมอาหาร
2)สือกาว (Semen armeniacae amarum) คือ เมล็ดพลัมที่ได้มาจากต้นพลัม 3 ชนิด ซึ่งอยู่ในวงศ์กุหลาบ (Rosaceae) คือ ชนิดที่หนึ่ง Prunus armeniaca L. หมายถึงลูกพลัมอเมริกาหรือบางแห่งเรียกว่าเอพริคอต มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า ansu apricot, Siberian apricot, Tibetan apricot ถิ่นกำเนิดยังไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะอยู่ในแถบเอเชีย เป็นไม้ยืนต้น สูง 8-12 เมตร ส่วนใหญ่มีการปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นผลไม้ ชนิดที่สอง Prunus sibirica L. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Siberian apricot เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3 เมตร มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เกาหลี มองโกเลียและทางตะวันออกของไซบีเรีย สมุนไพรชนิดนี้ส่วนใหญ่ไม่มีการปลูกเพื่อเป็นการค้า ชนิดที่สาม Prunus mandshurica (Maxim.) Koehne มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Manchurian apricot และ scout apricot เป็นไม้ที่ทนต่ออากาศเย็นได้เป็นอย่างดี มีถิ่นกำเนิดทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน เกาหลีและแมนจูเรีย เป็นไม้ผลัดใบ สูงได้ถึง 10 เมตร
3)ซิ่งเหริน (Glycyrrhiza) หรือ ชะเอมเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glycyrrhiza glabra L. มาจากภาษากรีกแปลว่า “รากหวาน” เป็นพืชในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) เป็นพรรณไม้ที่มีอายุนานหลายปี ลำต้นมีความยาวประมาณ 1-2 เมตร มีรากใหญ่แตกแขนงจำนวนมาก เปลือกของราก จะมีเป็นสีแดง และมีรสหวาน เป็นที่รู้จักกันเพื่อใช้เป็นยาบำรุงกำลัง และยังใช้ทำให้คลื่นเหียน อาเจียนด้วย
4)กานฉ่าว (Gypsum fibrosum) หรือ เกลือจืด รสเผ็ดอมหวาน คุณสมบัติ เย็นมาก มีสรรพคุณ ระบายความร้อน รักษาอาการไข้ร้อนสูง ลดอาการร้อนกระวนกระวาย และกระหายน้ำ
สมุนไพรทั้ง 4 ชนิดนี้ รวมเข้าเป็นตำรับยาที่เป็นยารสเผ็ด ฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณ ดับร้อนที่ปอด ระงับอาการไอ และหอบ และยังมีงานวิจัยที่สามารถใช้ได้ดีกับปอดที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ด้วย
ตำรับที่ 2 Gancao ganjiang decoction (GCGJ) เป็นยาต้ม ประกอบด้วยสมุนไพร 2 ชนิด คือ
1)Glycyrrhizae Radix คือ ชะเอมจีน เป็นสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glycyrrhiza uralensis
Fisch. มีชื่อสามัญว่า Chinese liquorice ภาษาจีนกลางเรียกกันเฉ่า ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกกำเช่า เป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย เป็นพรรณไม้ที่มีอายุนานหลายปี มีรากขนาดใหญ่จำนวนมาก ในตำรายาจีน รากใช้เป็นยาแก้ปวด ขับเสมหะ เปลือกบางมียางสีแดง ด้านในสีเหลืองสด รากจะมีรสชุ่ม ใช้เป็นยาบำรุงปอด ขับเลือดที่เน่าในท้อง รักษาพิษยาหรือพืชพิษต่าง ๆ ชนิดคั่วแล้วรักษาอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ตรากตรำทำงานหนัก ปวดท้อง ไอ เป็นไข้ สงบประสาท บำรุงปอด ใช้รากสดรักษาอาการเจ็บคอ เป็นแผลเรื้อรัง ระบบการย่อยอาหารไม่ดี หรืออาหารเป็นพิษ และรักษากำเดาให้เป็นปกติ รากแห้งของพืชชนิดนี้ใช้ทำยาระบายอ่อนๆ หรือใช้ปรุงแต่งรสยาต่างๆ ด้วย
2)Rhizoma Zingiberis คือ ขิง (Zingiber officinale Roscoe) ขิงคนไทยรู้จักดี เป็นพืชเก่าแก่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การกระจายพันธุ์ไปทั่วโลกเพราะคนนำติดตัวไปในการสำรวจโลกหรือค้าขาย เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน ส่วนใหญ่ใช้เหง้าทำยาหรือประกอบอาหาร รากหรือเหง้ามีรสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด เจริญอากาศธาตุ ขิงมีน้ำมันหอมระเหยที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เหง้าสดตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ
ตำรับยาที่ 2 นี้มีกล่าวถึงสรรพคุณว่า แก้ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ แก้อาการอาเจียนที่ออกมามีรส
เปรี้ยวจัด ปวดในลำไส้ ท้องมาน ปวดหน้าอกและหลัง อาการมึนเวียนศีรษะ หอบ ปวดประจำเดือน ฯ
ในช่วงต้นทางจีนก็เร่งนำเอาตำรับยาที่มีอยู่มาใช้รับมือสถานการร์ฉุกเฉิน ต่อมาทางราชการจีนประกาศตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2020 (พ.ศ.2563) ทันทีให้ใช้ยาชิงเฟ่ย พายตู่ (Qingfeipaidu decoction; QFPD) เพื่อรักษาโควิด-19 โดยการศึกษาวิจัยติดตามผลด้วย พบว่าใช้ได้ดีจริง ตำรับยานี้มีสมุนไพรถึง 21 ชนิด ขอเล่ารายละเอียดในตอนต่อไป.