ใครได้ท่องเที่ยวไปแถบภาคตะวันออกของไทย แล้วแวะร้านอาหารต่าง ๆ จะพบเมนูเด่นนำเสนอด้วยผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง เรียกว่า ผักกระชับ จนเวลานี้ได้เป็นพืชผักที่มีเอกลักษณ์ของพื้นที่ทีเดียว
คำว่า ผักกระชับ เป็นการเขียนและออกเสียงตามราชบัณฑิต ในขณะที่การออกเสียงของคนพื้นถิ่นเรียกผักนี้ว่า “ผักกระฉับ” การเรียกว่า ผักกระชับ น่าจะมีเหตุผลหนึ่งด้วย นั่นคือเป็นผักที่หมอพื้นบ้านนำมาใช้ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยากระชับมดลูก แต่ดั้งเดิมผักกระชับเป็นวัชพืชที่ขึ้นอยู่ตามท้องไร่ท้องนา ชาวบ้านนิยมเก็บต้นอ่อนมาประกอบอาหาร แต่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคนิยมกินผักกระชับมากขึ้น จึงเริ่มทำการเก็บเมล็ดมาเพาะเป็นต้นอ่อน เป็นการปลูกที่สามารถจำหน่ายได้ตลอดปี
ผักกระชับ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Cocklebur, rough cocklebur clotbur, common cocklebur, large cocklebur, woolgarie bur มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Xanthium strumarium L. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกับทานตะวัน ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นอ่อนของทานตะวัน และจากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว ระบุว่าผักกระชับมีถิ่นกำเนิดตั้งแต่ยุโรปตอนกลางและตอนใต้ไปจนถึงจีนและอินโดจีน (รวมถึงประเทศไทยด้วย) ไต้หวันและตะวันตกเฉียงเหนือของอาฟริกา
ผักกระชับเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตรง สูงได้ถึง 1.5 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม โคนเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบหรือหยักเว้าแหว่ง ช่อดอกออกตามง่ามใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อดอกเดียวกัน ผิวต้นหยาบ มีลายเส้นเป็นเหลี่ยม ๆ ทั้งต้น มีขนสีขาว ๆ ขึ้นอยู่ประปราย ผิวโคนต้นเป็นสีม่วง ส่วนผิวด้านบนของลำต้นเป็นสีเขียวแต้มด้วยสีน้ำตาลดำ แตกกิ่งก้านได้มาก ผลมีหนามนุ่มเป็นรูปตะขออยู่บนผิวของผล ที่ปลายผลเป็นจะงอยแหลม 2 อัน ในผลหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดแก่สีดำ ในประเทศไทยสามารถพบเห็นได้ทุกภาค มีชื่อเรียกหลายชื่อในแต่ละพื้นที่ เช่น กระชับ ขี้ครอก (ราชบุรี) หญ้าผมยุ่ง (เชียงใหม่) เกี๋ยงนา มะขัดน้ำ มะขะนัดน้ำ (ภาคเหนือ) เกี๋ยงน้ำ ขี้อ้น (ภาคอีสาน) ขี้อ้นดอน (ขอนแก่น เลย) ขี้อ้นน้ำ (นครพนม) เป็นต้น ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้ส่วนต่างๆ ของผักกระชับรักษาโรคหลายชนิด ยอดอ่อนและต้นอ่อนที่มีใบแท้สมบูรณ์แล้วนำมาทำให้สุกกินเป็นผักได้ แป้งจากเมล็ดใช้ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว
ในตำรายาไทย กล่าวถึงสรรพคุณยาไว้ว่า ผลเป็นยาเย็น ใช้บำรุงกำลัง รักษาโรคท้องมาน รากมีรสขมช่วยทำให้เจริญอาหาร ใช้เป็นยาแก้วัณโรคต่อมน้ำเหลืองและมะเร็ง ใบและต้นช่วยแก้อาการปวดศีรษะและช่วยแก้อาการปวดหู ต้นใช้ช่วยระงับประสาท ยาแก้โรคมาลาเรีย ในประเทศจีนมีรายงานการใช้ต้นกระชับเป็นยามาไม่น้อยกว่า 1,000 ปี โดยนำมาใช้ในรักษาโรคแพ้อากาศหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ปวดศีรษะ แผลในกระเพาะอาหาร โรคลมพิษ ไขข้ออักเสบ ลดการติดเชื้อจากแบคทีเรียและเชื้อรา และจากการศึกษาวิจัยที่มีมาโดยตลอดเท่าที่ค้นคว้ามาจนถึงปี พ.ศ. 2562 พบรายงานหลายชิ้น ซึ่งพบว่าผักกระชับมีสารสำคัญมากกว่า 170 ชนิด และจากการศึกษาทางด้านเภสัชวิทยายังพบว่าสารต่างๆ เหล่านี้มีสรรพคุณมากมาย โดยเฉพาะช่วยลดอาการแพ้ ต้านมะเร็ง ต้านอักเสบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมล็ดมีสารพิษที่เรียกว่า Xanthostrumarin Glycoside ซึ่งเป็นสารที่มีพิษต่อสัตว์ สารนี้จะคงอยู่จนถึงระยะที่เมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนมีใบเลี้ยงติดอยู่ แต่เมื่อใบแท้เริ่มมีการเจริญเติบโต สารไกลโคไซด์นี้จะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยสารพิษชนิดนี้จะไม่สลายตัวแม้จะนำมาตากแดดให้แห้งแล้วก็ตาม ดังนั้นการนำผักกระชับมากินจึงต้องไม่ใช่ระยะที่เป็นต้นกล้า แต่ต้องเป็นต้นอ่อนที่มีใบแท้เจริญออกมาสมบูรณ์แล้ว ในบังคลาเทศมีรายงานการกินต้นกล้าหรือต้นอ่อนที่ใบแท้ยังไม่เจริญทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 20 ราย จึงต้องระมัดระวัง
ถึงแม้จะมีรายงานว่าในเมล็ดมีสารพิษ แต่ยาจีนแผนโบราณยังมีการนำมาใช้ในตำรับยารักษาแก้จมูกอักเสบเรื้อรังและริดสีดวงจมูก ด้วยการใช้เมล็ดกระชับประมาณ 8 กรัม ใบสะระแหน่ 5 กรัม ใบชา 10 กรัม รากหอมใหญ่ 6 กรัม โกฐสอ 10 กรัม และดอกชุนฮัว 12 กรัม นำทั้งหมดมาต้มกับน้ำเป็นยากิน นอกจากนี้ยังมีการใช้เมล็ดเป็นยาแก้ไข้หวัด ถอนพิษไข้ด้วย ข้อสังเกตตำรับยานี้น่าจะมีวิธีการปรุงยาตามแบบฉบับโบราณของชาวจีนที่น่าจะลดพิษ ซึ่งต้องให้ผู้รู้จริงๆ ปรุงยา นอกจากนี้รากและผลมีสารจำพวกอัลคาลอนด์ เช่น Xanthinin, Xanthumin และสาร Xanthatin ซึ่งเป็นสารที่มีสรรพคุณแก้แพ้ แก้อาการอักเสบได้หลายอย่าง เช่น การติดเชื้อทางผิวหนัง โรคกระเพาะอาหาร ในประเทศแถบอเมริกาใต้นำใบมาสกัดสีย้อมให้สีเหลือง
ในไทยแปรเปลี่ยนผักกระชับเป็นเมนูอาหาร แต่ในหลายประเทศประเมินให้ผักกระชับเป็นวัชพืชที่สร้างความเสียหายให้กับระบบการเกษตรอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชปีเดียว เช่น ไร่ข้าวโพด ไร่มัน เป็นต้น หากประเทศเหล่านั้นมาดูงานเมืองไทย น่าจะปรับมุมมองได้บ้าง แม้ว่าผักกระชับมีทั้งประโยชน์ แต่ก็มีโทษหากใช้ไม่ถูกต้อง จึงต้องช่วยกันสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้บริโภค และผู้ผลิต แม่ค้าพ่อขาย ร้านอาหารต่างๆ ก็ต้องมีจรรยาบรรณ ไม่นำกล้าหรือต้นอ่อนที่ยังไม่มีใบแท้ไปขายหรือไปรุงอาหารโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้มุมมองสรรพคุณยาดั้งเดิม เป็นยากระชับมดลูก(หลังคลอดบุตร) และยาบำรุงกำลังก็น่าสนใจศึกษาต่อยอดเช่นกัน