การเรียนรู้ของหมอพื้นบ้านยิ่งเป็นหมอพื้นบ้านอาวุโส พูดได้เลยว่าหมอพื้นบ้านเรียนรู้มาจากการปฏิบัติ หมอได้รับการบ่มเพาะสอนวิชาชีวิตจากวิถีชีวิต
สำหรับรุ่นรอยต่อคือเป็นหมอรุ่นใหม่นั้นเรียนในระบบโรงเรียน มีความคุ้นเคยกับการนั่งฟังสอนในห้อง แต่ก็ได้เรียนรู้วิชาหมอพื้นบ้านจากวิถีชีวิตเช่นกัน
การที่หมอพื้นบ้านได้มีวงพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ยิ่งได้มีความคุ้นเคย บรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตร เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ลื่นไหล นำไปสู่การเกิดความรู้ใหม่ไหลถ่ายเทกันบนฐานความรู้เก่า
คนภายนอกมักจะมองว่า หมอพื้นบ้านรุ่นอาวุโสนั้นหวงวิชาความรู้ ในความเป็นจริง หมอพื้นบ้านไม่ได้หวงวิชา แต่เลือกที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับคนที่ตั้งใจจริงและมีคุณธรรม
และในยุคปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ตัวของหมอพื้นบ้านเองก็มีการปรับตัวเรื่องของการเรียนรู้ หาความรู้เพิ่มเติมให้กับตัวเอง ทั้งการอ่านหนังสือตำราต่างๆ หรือการเรียนรู้เรื่องโครงสร้างร่างกายจากแพทย์แผนปัจจุบัน
การถ่ายทอดความรู้ของหมอพื้นบ้านถ่ายทอดทั้งเนื้อหา แนวคิดและอุดมการณ์ ซึ่ง 2 เรื่องหลังนี้ค่อนข้างสำคัญมาก เพราะจะรับใครเป็นศิษย์ต้องพิจารณาหลายอย่าง เช่น ความประพฤติ ความคิด คุณธรรม จริยธรรม การจะเป็นหมอต้องไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์
การรับคนมาเป็นลูกศิษย์ก็ไม่ได้รับจำนวนมากเหมือนกับระบบโรงเรียน การเรียนรู้วิชาหมอพื้นบ้านเปรียบเสมือนเราเรียนรู้แบบตัวต่อตัว คนที่จะเป็นหมอพื้นบ้าน ควรจะต้องเป็นคนที่ …
มีสัจจะ ไม่โอ้อวดว่าตัวเองเป็นหมอ หากไม่รู้ก็ไม่ควรทำ ให้ทำตามความถนัดของเราเอง
มีน้ำใจยินดีช่วยเหลือ หากไม่ช่วยเหลือ ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าหมอ
กฎเหล็กของหมอพื้นบ้านคือ ห้ามเรียกร้องค่ารักษา
หมอพื้นบ้านมีครูและศรัทธาครู เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นหมอพื้นบ้านที่จะให้ทั้งคุณและโทษได้
คนที่จะมาเป็นหมอพื้นบ้านนั้น “จะต้องยอมรับวิถีการเป็นหมอพื้นบ้าน” เพราะหมอพื้นบ้านไม่ใช่อาชีพ แต่เป็นวัฒนธรรมการช่วยเหลือกันของเพื่อนมนุษย์
ตอนหน้ามาติดตามกันต่อว่า การจัดการความรู้จากยุคเก่าไปสู่ยุคใหม่มีการปรับตัวอย่างไร
#มูลนิธิสุขภาพไทย #หมอพื้นบ้าน #หมอสมุนไพร #ภูมิปัญญา